จ.ปทุมธานี - พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) และคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ (อ.กรอ.อศ.) ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2558 ที่ศูนย์การประชุมและฝึกอบรมวิชาชีพ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี โดยมีพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พันเอก ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พันเอก รัตนะโชติ อ่างทอง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารอาชีวะ รวมทั้ง กรอ.อศ.-อ.กรอ.อศ. และผู้แทนสถานประกอบการ เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมว่า การผลิตกำลังคนด้านอาชีวะในภาพรวมของประเทศ จะต้องผลิตให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ทิศทางการพัฒนาประเทศ ตลอดจนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขอให้ช่วยกันติดตามและทำความเข้าใจกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายการศึกษา และทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อจะได้วางแผนการผลิตได้ถูกทิศทาง โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งการขาดแคลนแรงงานและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ควรมีการเตรียมมาตรการเกี่ยวกับการทำงาน ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการที่มีแรงจูงใจมากพอ เพื่อไม่ให้เด็กหนีไปทำงานในประเทศอื่น
กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักดีว่า กรอ.อศ.จะช่วยเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยแก้ปัญหากำลังคนด้านอาชีวะได้เป็นอย่างมาก แต่ขณะนี้ยังขาดฐานข้อมูลความต้องการหรือความขาดแคลนที่ชัดเจน จึงฝากให้แต่ละกลุ่มอาชีพได้รวบรวมตัวเลขความต้องการทั้งระยะสั้น 1 ปี (ปี 2559) และระยะยาว 4 ปี แยกเป็นสาขาวิชา ระดับการทำงาน ประเภทสถานประกอบการ ส่งมายัง สอศ.ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนำมาจัดทำแนวทางการผลิตกำลังคนสายอาชีวศึกษาเสนอต่อรัฐบาลให้ได้เห็นภาพของการผลิตกำลังคนตั้งแต่ตอนนี้ถึงสิ้นปี 2559 และเตรียมที่จะส่งต่อให้กับรัฐบาลชุดต่อไป
จากนั้นได้มีการประชุม โดยมีวาระพิจารณาหารือในประเด็นสำคัญดังนี้
หารือ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา
ที่ประชุมได้หารือร่างยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน การเพิ่มบทบาทสถานประกอบการในการผลิตและพัฒนากำลังคน ตามนโยบายและพัฒนาการศึกษา ซึ่งได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ดำเนินงาน 5 ด้าน คือ
1) สร้างเสริมแรงจูงใจให้ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษาในระดับประเทศและนานาชาติร่วมขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคน
2) ขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษาในระดับประเทศและนานาชาติ ในการขับเคลื่อนการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคน
3) จัดระบบการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนทุกระดับต่อเนื่องตลอดชีวิตเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
4) พัฒนาผลิตภาพของกำลังคนให้มีศักยภาพสูงและมีความสามารถในระดับสากล
5) สร้างกลไกการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคเอกชน
ที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษารายละเอียดของร่างยุทธศาสตร์ และพิจารณาเรียบเรียงในแต่ละยุทธศาสตร์ให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน
รับทราบการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพสาขาวิชานำร่องของ SEA-TVET
ที่ประชุมรับทราบมติของที่ประชุมผู้นำอาชีวศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้หัวข้อ “เพื่อการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเป็นสากล” หรือ High Official meeting of SEA-TVET : Working Together Harmonization and Internationlization ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2558 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการจัดการอาชีวศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาเซียนบวกสาม องค์กร และหน่วยงานเครือข่ายระหว่างประเทศ
ซึ่งได้มีมติร่วมกันให้สาขาวิชาและภาคอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยมีประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพสาขาวิชานำร่องของอาเซียน เพื่อประกันคุณภาพว่ามีมาตรฐานที่ทัดเทียมกัน ตลอดจนสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกันได้ ต่อจากนั้นจึงจะพัฒนามาตรฐาน ในสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ สาขาวิชาเกษตรกรรม สาขาวิชาประมง และสาขาวิชาการก่อสร้าง ต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุม SEA-TVET ได้มีภารกิจและยุทธศาสตร์ร่วมที่สำคัญอีก 6 ประการ คือ
1) ความร่วมมือในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับชาติและตามกรอบคุณวุฒิการศึกษาของประเทศสมาชิกซีมีโอ โดยยึดกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน หรือ AQRF
2) การจัดตั้งสมาพันธ์เทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEA-TVET
3) การให้ความสำคัญกับสาขาวิชาและภาคอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรกในการดำเนินกิจกรรมนำร่อง รองลงมาคือ สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ สาขาวิชาการผลิต สาขาวิชาเกษตร สาขาวิชาประมง และสาขาวิชาการก่อสร้าง
4) การแลกเปลี่ยนความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และทรัพยากรการศึกษา
5) การจัดทำแผนผังอาชีพด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมตามภูมิศาสตร์พื้นที่
6) การส่งเสริมนวัตกรรมและการฝึกอบรมครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
7) การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม ตลอดจนแรงงานอย่างเสรีในภูมิภาค
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานอาชีพของอาเซียนนำร่องด้านการบริการและการท่องเที่ยว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะต้องใช้เวทีนี้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะสาขาวิชาใดที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญและเข้มแข็งเพียงพอ ก็ควรจะเป็นผู้นำในการจัดทำมาตรฐานอาชีพแก่ประเทศสมาชิกอื่นด้วย เพื่อให้ประเทศไทยแข็งแรง อาเซียนแข็งแรง สามารถสู้กับภูมิภาคอื่นได้
รับทราบการแต่งตั้ง กรอ.อศ. และ อ.กรอ.อศ.
ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ดังนี้
- แต่งตั้งปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพิ่มเติม
- ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ เปลี่ยนชื่อ กลุ่มอาชีพปิโตรเคมี เป็น “กลุ่มอาชีพปิโตรเลียม ปิโตรเคมี”, เปลี่ยนแปลงประธาน อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและกลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร, เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมอนุกรรมการ ผู้ช่วยเลขานุการ และเลขานุการร่วม
- แต่งตั้ง อ.กรอ.อศ. จำนวน 3 ชุด ได้แก่
1) อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพตัวถังและสี (Body and Paint) เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กรอ.อศ. โดยมีนายกสมาคมอู่กลางการประกันภัย เป็นประธานอนุกรรมการ มีนายเจนวิทย์ ครองตน ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ และนายสมนึก สุชาติพงษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคทุ่งสง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม
2) อ.กรอ.อศ. กลุ่มหอการค้า เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กรอ.อศ. โดยมีนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานที่ปรึกษา ซึ่งได้เพิ่มเติม 5 กลุ่มหอการค้า คือ
? กลุ่มหอการค้าภาคเหนือ มีนายวิโรจน์ จิรัฐติกาลโชติ กรรมการรองเลขาธิการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ 3 หอการค้าไทย เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
? กลุ่มหอการค้าภาคกลาง มีว่าที่ร้อยเอกจิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการรองเลขาธิการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
? กลุ่มหอการค้าภาคตะวันออก มีนายปรัชญา สมะลาภา กรรมการรองเลขาธิการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
? กลุ่มหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร กรรมการรองเลขาธิการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
? กลุ่มหอการค้าภาคใต้ มีนายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ กรรมการรองเลขาธิการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย และมีผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
3) อ.กรอ.อศ.กลุ่มอาชีพไมซ์ (MICE) เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กรอ.อศ. โดยมีนางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นประธานอนุกรรมการ และมีนายปฎิเวธ พึ่งอุบล ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด มีหน้าที่กำหนดความต้องการกำลังคนในแต่ละกลุ่มอาชีพในทุกระดับ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการผลิตกำลังคน ระดับอาชีวศึกษา,ส่งเสริมสนับสนุนการกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะวิชาชีพ เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ และร่วมผลักดันให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาได้รับค่าตอบแทนตามสมรรถนะ, ส่งเสริมสนับสนุนการขยายยกระดับอาชีวศึกษาทวิภาคี, ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของครูอาชีวศึกษาและครูฝึกในสถานประกอบการ, ร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนของประเทศเป็นการเร่งด่วน ทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว, ส่งเสริมและสนับสนุนการปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา, ส่งเสริมสนับสนุนการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไทยไปสู่มาตรฐานอาเซียนและมาตรฐานสากล, แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th