ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลายระดับ ทั้งระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กับกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯของไทย ซึ่งมีกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันจำนวนมาก โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศร่วมงานกันในด้านผลงานนวัตกรรม นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายที่สอดรับกับการสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ทั้งในด้านการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสู่เป้าหมาย 1% ของจีดีพี ซึ่งจะยกให้เอกชนเป็นแกนหลักในขณะที่หน่วยงานภาครัฐจะทำหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวก ด้านการพัฒนากำลังคน วทน. โดยสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ๆ อาทิ การศึกษาด้านสะเต็ม (STEM) การเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน สหกิจศึกษา ซึ่งจะช่วยภาคเอกชนในการดึงคนที่มีความสามารถเข้าทำงานแบบเชิงรุกด้วยเช่นกันนอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน ซึ่งได้จัดกลไกสนับสนุนต่างๆ อาทิ แพ็คเกจของบีโอไอ การหักลดหย่อยภาษีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนา การจัดระบบการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค การสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การบูรณาการงานห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
“ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนสำคัญมากสำหรับภูมิภาคนี้ ซึ่งจีนเป็นประเทศผู้นำของโลกทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เรามีหลายสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กันและกัน ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคนและปลายปีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งจะทำให้ประชากรของเรามีขนาดใหญ่ถึง 600ล้านคน เรามีตลาดขนาดใหญ่ มีทรัพย์สินทางปัญญาและนักวิจัยจำนวนมาก มีหลายสิ่งที่จีนสามารถร่วมกับประเทศอาเซียนได้ เพื่อให้เกิดภูมิภาคที่สงบและมั่นคง และในวิกฤตการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตความร่วมมือระหว่างไทยจีนจะสามารถช่วยภูมิภาคนี้และโลกใบนี้ได้” ดร.พิเชฐ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานยังเปิดให้มีการเจรจาธุรกิจระหว่างไทยและจีน รวมถึงการบรรยายสถานภาพและความต้องการทางธุรกิจจากนักวิชาการ ผู้แทนภาครัฐและนักธุรกิจไทย เพื่อเชิญชวนนักธุรกิจจีนมาร่วมลงทุนในตลาดนวัตกรรมไทย เช่น การบรรยายเรื่องนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการจีนในประเทศไทย โดย คุณบุษราคัม ศรีรัตนา ผู้อำนวยการกองความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศของบีโอไอ เรื่องสถานภาพการพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องสถานภาพการพัฒนาพลังงานชีวมวล โดย คุณทักษ์สุตา ถิ่นสันติสุข ผู้จัดการบริษัท Zero Waste จำกัดในฐานะผู้แทนของสภาอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเรื่องอื่นๆ เช่น การสนับสนุนฟาร์มสาธิตยุคใหม่และสถานีขนส่งอ้อยโดยมิตรผล สถานภาพการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ผ่าตัดโรคลำไส้ และเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ผู้ประสานงาน : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th