รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการหารือเรื่องการแข่งขันด้านการศึกษา โดยนำวิธีการจากหลายประเทศที่มีระดับดีกว่าประเทศไทยมาเปรียบเทียบ เพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อน โดยเน้นในด้านของการสื่อสารภาษาอังกฤษ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม คณิตศาสตร์ ซึ่งต้องพัฒนาทั้งระบบตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เป็นต้นไป เพราะที่ผ่านมาพบว่าระดับการศึกษาของประเทศไทย ยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร พร้อมกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมว่า ขอให้มีการเร่งพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาล อีกทั้งเรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้ก็ขอให้จัดทำไปก่อน ส่วนกรณีการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 2 พฤศจิกายน โดยมี 4,100 โรงเรียนพร้อมดำเนินการ โดยช่วงเริ่มนี้จะเน้นกิจกรรมเสริมสร้างสมอง (Head) ทักษะ (Hand) คุณธรรม จริยธรรม(Hart) รวมทั้งสุขภาพ (Health) ซึ่งสาระความรู้ไม่ได้ด้อยไปจากเดิม แต่นักเรียนจะมีความสุขมากขึ้น มีเวลาคิด วิเคราะห์ ฝึกทักษะ รู้จักการถกแถลง การเขียนเรียงความมากขึ้น โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานภาคเอกชน เข้ามาร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มปรับลดเวลาเรียนแล้ว จะมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการกำกับตรวจสอบในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการดำเนินโครงการ ซึ่งจะมีคณะทำงานที่เรียกว่าสมาร์ทเทรนเนอร์ ประมาณ 300 คณะ ลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผล และในปีการศึกษาใหม่นี้ โรงเรียนในประเทศไทยจะดำเนินการเช่นเดียวกันทุกแห่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบว่า ระบบการศึกษาจะต้องมีการปรับปรุงหลายเรื่อง อาทิ หน่วยงานด้านการประเมินสถานศึกษา คือ สำนักรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จะต้องมีการปฏิรูปในการทดสอบนักเรียนนักศึกษา ด้วยการเพิ่มข้อสอบอัตนัยให้มากขึ้น อีกทั้งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ เร่งสำรวจความต้องการด้านแรงงาน เพื่อจะได้พัฒนาแรงงานตรงกับความต้องการของตลาด โดยกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และภาคเอกชน จะมีการหารือในเรื่องดังกล่าวต่อไป ส่วนตลาดแรงงานอาชีวะศึกษานั้น นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมฝีมือแรงงานเร่งศึกษาถึงการปรับเพิ่มค่าแรงให้กับฝีมือแรงงานด้วย
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับภาพลักษณ์ เรื่องของบุคลากรอย่างชัดเจน โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ได้ให้นโยบายชัดเจนว่า การพัฒนาคนจะต้องไม่มีปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ส่วนการก้าวสู่วิทยฐานะต่าง ๆ ของครู กำลังเร่งให้มีการปรับปรุง อีกทั้งผลงานของครูจะต้องขึ้นอยู่กับผลงานของเด็กซึ่งจะเป็นตัวชี้วัด ถ้าเด็กมีคุณภาพดี ครูถึงจะได้ดีด้วย
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานฯ หลังจากที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยแต่งตั้ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แทน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ และ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี
สำหรับความก้าวหน้าในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวะที่มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น จะมีการจัดการเรียนเพื่อปรับปรุงเฉพาะด้าน ตามความต้องการของภาคเอกชน เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ รวม 7 สาขา ได้แก่ 1. พาณิชย์นาวี 2. การขนส่งระบบราง 3. ปิโตรเคมี 4. การผลิตไฟฟ้า 5. การท่องเที่ยว 6. เทคโนโลยีอาหารปลอดภัย 7. อุตสาหกรรมแม่พิมพ์
ส่วนการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า ประเทศในอาเซียนต้องการให้มีการฝึกบุคลากรที่ขาดแคลนในอีกหลายสาขา และประเทศไทยมีศักยภาพที่จะถ่ายทอดความรู้ อาทิ กำลังคนด้านการบริหาร ด้านบัญชี ด้านวิศวกร โดยยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ ที่นำบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาทำหน้าที่ครู จึงทำให้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งต่อไปประเทศไทยคงต้องเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาพัฒนาบุคลากรในประเทศด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของการสร้างคนให้ตรงกับความต้องการนั้น ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเก็บรวบรวมข้อมูลและจำนวนคนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาวางแผนเพื่อเตรียมกำลังคนต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th