โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการสหภาพยุโรปได้เดินทางมาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการทำประมงของไทยพบว่า ดีขึ้นและมีความคืบหน้าตามลำดับ ซึ่งรัฐบาลยังต้องการให้การทำประมงของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน มิได้มุ่งหวังเพียงเพื่อผ่านการตรวจสอบจากสหภาพยุโรป คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติ 1.พระราชกำหนดการทำประมง 2.แผนบริหารจัดการเรื่องการทำประมง 3.แผนปฏิบัติงานระดับชาติ
ด้านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาย้ำถึงหลักการของ พ.ร.ก การทำประมงว่า คือ 1.กำหนดมาตรการในการแก้ไขและป้องกันการทำประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในระดับที่สากลยอมรับ 2.การบริหารจัดการการทำประมงต่าง ๆ ในประเทศให้สอดคล้องกับการผลิต โดยต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของการทำประมงในประเทศสำหรับมาตรการที่จะเป็นการตอบสนองต่อหลักการดังกล่าว ได้แก่ 1. มาตรการว่าด้วยระบบอนุญาตให้ทำการประมง เพื่อป้องกันการทำประมงข้ามเขต 2.มาตรการเกี่ยวกับระบบติดตามและควบคุมเฝ้าระวัง เพื่อให้สามารถติดตามที่อยู่และกิจกรรมต่าง ๆ ของเรือ 3.การตรวจสอบเมื่อเรือเข้าเทียบท่า 4.การตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำว่าจับมาจากที่ใดและเมื่อใด 5.มาตรการว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษ โดยจะต้องมีการกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม หากทำความผิดร้ายแรงก็ต้องมีบทลงโทษสูง หากความผิดไม่ร้ายแรงก็อาจเพียงแค่ตักเตือนหรือระงับการทำประมง เป็นต้น
ส่วนอธิบดีกรมประมง ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนดว่า การดำเนินการดังกล่าว สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย และให้กฎหมายมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของสหภาพยุโรป และเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่อยากเห็นการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้คุณค่าและเกิดความยั่งยืน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th