ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” ในงานสัมมนาระดมความคิดเห็น “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” จัดโดย คณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ณ ห้องรับรอง ๑ – ๒ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยลำพังไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์อย่างครบวงจรได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เราจะต้องทำงานกับมหาวิทยาลัย รากใหญ่ที่สุดเราจะต้องทำงานกับกระทรวงมหาดไทย วันนี้กลไกเป็นเรื่องที่จะต้องมาออกแบบให้ดี ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันหัวใจสำคัญไม่ใช่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่วันนี้หากโจทย์ประเทศกำลังต้องการวางแนวทางเพื่อที่จะแก้ไขครั้งใหญ่ มหาวิทยาลัยอาจจะต้องเคลื่อนย้ายมาฝั่งที่ไม่ต้องตีพิมพ์ แต่สามารถนำความรู้ไปช่วยชาวบ้านได้ แล้วนำกลับมาขอตำแหน่งวิชาการได้ ซึ่งโครงการ talent mobility ตอบโจทย์ข้อนี้ เนื่องจากวันนี้เรามีอาจารย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ออกไปแล้ว 100 คน ไปรองรับความสำคัญภาคเอกชน ที่ต้องการตั้งศูนย์วิจัย ตั้งห้อง lab แต่ขาดคน ผลกระทบที่ตามมา มหาวิทยาลัยและอาจารย์เหล่านี้ ได้นำนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก ออกไปด้วย 70 คน เด็กเหล่านี้ได้ไปเรียนรู้วิธีการทำงาน บริษัทญี่ปุ่นขอให้ไทยสร้างกำลังคนให้ในสาขาที่ขาดแคลน แม้กระทั่งวิศวกรที่มีคุณภาพก็ขาดแคลนมากในอุตสาหกรรมของประเทศไทย
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า วันนี้มหาวิทยาลัยมีของอยู่บนหิ้งเยอะ เราได้ทดสอบกับหน่วยงานบางแห่งกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัย เอาผลงานบนหิ้งมารวมกันได้ 82 ชิ้น แล้วจัดงานโดยเชิญ SMEs ผู้ประกอบการ นักลงทุน มาร่วมชมผลงาน และผลงานทุกชิ้นขายในราคา 3 หมื่นบาท ปรากฎว่าขายได้ 95 % บางผลงานขายโดยมีผู้ซื้อหลายคน และมี 1 ผลงานมีผู้ซื้อ 15 คน เราเริ่มทดลองอย่างนี้เพื่อให้ภาคเอกชนมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมีของดี และจะเร่งทำให้มากขึ้น
ส่วนเรื่องการผลิต รมว.วิทยาศาสตร์ ย้ำว่า ต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง วันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเพื่อยกระดับการผลิต โดยเอาเรื่องมาตรฐานเป็นตัวนำ ซึ่งชุมชนต่างๆ มีของเยอะ แต่ยังไม่มีมาตรฐาน ทำให้ขายได้เฉพาะในชุมชน ประเด็นคือทำอย่างไรจะให้การรับรองมาตรฐานเร็วขึ้น และชาวบ้านทราบว่าเขาต้องการมาตรฐานอะไร กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังรวบรวมระบบการรับรองมาตรฐานว่าประเทศไทยมีมาตรฐานเรื่องอะไรบ้าง ใครทดสอบเรื่องอะไร อยู่ที่ไหน เราจะได้รู้ว่าโครงสร้างพื้นฐานของมาตรฐานยังขาดตรงไหน เมื่อไปสอบเทียบกับมาตรฐานระดับโลก
ข่าวโดย : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร
ผู้ประสานงาน : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
ที่มา: http://www.thaigov.go.th