รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือและชี้แจงหลักการ แนวคิด วัตถุประสงค์ ตลอดจนรูปแบบกิจกรรมตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)" ให้หน่วยงานจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเข้าโครงการกว่า 20 แห่งได้รับทราบ พร้อมนำแนวคิดกลับไปพิจารณาออกแบบเมนูกิจกรรมของแต่ละหน่วยงาน เพื่อส่งกลับมาที่สำนักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายในต้นเดือนตุลาคม 2558 จากนั้น สพฐ.จะรวบรวมและนำกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อให้สามารถเชื่อมการทำงานระหว่างกันต่อไปได้
จากการรับฟังผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ ทราบว่าขณะนี้มีกิจกรรมเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ สพฐ. กำหนดไว้เดิมจาก 200 เมนู เป็น 400 เมนู ซึ่งหน่วยงานต่างๆ สามารถสนับสนุนการจัดกิจกรรมได้ใน 2 รูปแบบ คือ 1) สนับสนุนเฉพาะอุปกรณ์ เช่น ในกิจกรรมง่ายๆ ครูสามารถทำได้เอง หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่แล้วแต่ขาดอุปกรณ์ 2) สนับสนุนกิจกรรมพร้อมอุปกรณ์และวิทยากร เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่จะให้การสนับสนุนทั้งวิทยากรและอุปกรณ์กับโรงเรียนนำร่องทุกแห่ง เพราะมีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศและเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น ซึ่งได้ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมทั้งในด้านเมนูกิจกรรมและช่วงเวลาในการจัด
นอกจากนี้ ขอให้ สพฐ.จัดทำรูปแบบกิจกรรมเพื่อเป็นคำแนะนำขั้นต้นให้กับโรงเรียนต่างๆ ตามความพร้อมและความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียนเป็นหลัก เพราะขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้บังคับว่าโรงเรียนจะต้องเลือกกิจกรรมอะไรบ้าง เนื่องจากเชื่อว่าการดำเนินโครงการใหม่กับองคาพยพจำนวนมาก จะต้องพิจารณาจากความพร้อมเป็นหลัก ไม่ควรบังคับ เพราะอาจเกิดการต่อต้านขึ้นได้, ในทางกลับกัน ยิ่งจะต้องมีความหนักแน่นมั่นคง ไม่ควรผลีผลามมากเกินไป เพราะเป็นช่วงของการเริ่มต้นโครงการในปีแรก หากจะมีความสมบูรณ์จริงๆ คงต้องรอในปีการศึกษา 2559 ต่อไป
สำหรับรูปแบบกิจกรรมซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดไว้ในขั้นต้น แบ่งเป็น 4 หมวด 16 กลุ่ม ดังนี้
1) กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมบังคับตามหลักสูตร) ประกอบด้วย 3 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
2) สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ พัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร พัฒนาความสามารถด้านการคิดและการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้าง (Growth Mindset) พัฒนาความสามารถด้านการแก้ปัญหา พัฒนาความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
3) สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม ประกอบด้วย 4 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม มีจิตสาธารณะและการให้บริการด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อส่วนรวม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม (มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ อดทน มุ่งมั่นในการทำงาน กตัญญู) และปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และหวงแหนสมบัติของชาติ
4) สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ประกอบด้วย 4 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ ตอบสนองความสนใจ/ความถนัด/ความต้องการของผู้เรียน ฝึกการทำงาน/ทักษะทางอาชีพ/ทรัพย์สินทางปัญญา อยู่อย่างพอเพียง/มีวินัยทางการเงิน/พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต และสร้างเสริมสมรรถนะทางกาย
ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 3,831 โรงเรียน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2558) แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพป. 3,447 โรงเรียนจาก 183 เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนสังกัด สพม. 384 โรงเรียนจาก 42 เขตพื้นที่การศึกษา
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th