รักษาการกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวยและปัญหาเชิงโครงสร้างที่เร่งตัวขึ้นทำให้การส่งออกของไทยเผชิญกับภาวะ New Normal หรือภาวะที่การส่งออกขยายตัวไม่หวือหวาเช่นในอดีต ทางออกจึงได้แก่ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เป็นมากกว่าผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer : OEM) มุ่งเป้าหมายสร้างแบรนด์ดังในระดับภูมิภาคและระดับโลก เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้ไอเดีย โน-ฮาว การบริหารจัดการ และนวัตกรรมเป็นทรัพยากรหลักในการผลิต ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกไทยควรต้องมองหาโอกาสในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในธุรกิจบริการซึ่งไทยมีศักยภาพสูงเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวหรือโลจิสติกส์ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์
นายสุธนัย กล่าวว่า EXIM BANK พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทย ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจส่งออก ค้าชายแดน ขยาย-ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดชายแดน ลงทุนด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม รวมถึงแพ็กเกจทางการเงินสนับสนุนการค้าในอาเซียนพร้อมกันทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ขาย ตลอดจนบริการคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า บริการประกันการส่งออก บริการประกันความเสี่ยงการลงทุน
“ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ EXIM BANK พร้อมให้บริการทางการเงินเพื่อช่วยผู้ส่งออกไทยรับมือกับความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุน ขณะเดียวกัน ยังพร้อมสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยเดินเกมรุกเพื่อความสำเร็จในระยะยาว เร่งพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ออกแบบและผลิตสินค้าใหม่ๆ ตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภค เช่น สังคมออนไลน์ สังคมผู้สูงอายุ และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคการส่งออกของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” นายสุธนัย กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร EXIM BANK สำนักงานใหญ่
โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1141-6
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th