โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังในแม่น้ำป่าสักเป็นการเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางลำน้ำภายในประเทศ เนื่องจากผ่านพื้นที่ต้นทาง และปลายทางของสินค้าในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และภาคเกษตรกรรมหลายชนิด สามารถเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขนส่งมายังกรุงเทพฯ และส่งออกต่างประเทศที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี นั้น และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางน้ำและทางราง ซึ่งเป็นการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน ส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของระบบการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก เป็นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังในแม่น้ำป่าสักเพื่อรองรับดำเนินการขุดลอกเพื่อขยายหน้าตัดลำน้ำในจุดร่องน้ำตื้นเขินวิกฤต โครงการดังกล่าวฯ จะทำให้เรือสามารถบรรทุกสินค้าได้เต็มอัตรา ปริมาณการขนส่งต่อเที่ยวมากขึ้น ต้นทุน ค่าขนส่งต่อหน่วยลดลง รองรับการเดินเรือขนส่งสินค้าขนาด 1500 ตันกรอส จากจุดเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอพระนครศรีอยุธยาผ่านอำเภอนครหลวง ถึงอำเภอท่าเรือได้อย่างสะดวกและปลอดภัยตลอดทั้งปี สามารถขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำป่าสักออกแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อทะเลอ่าวไทยเพิ่มขึ้น โดยรูปแบบโครงสร้างเขื่อนแบบตอกเสาเข็มคอนกรีตพืด (SHEET PILE) พร้อมโครงสร้างเสาเข็มซีเมนต์ดิน (Cement column, Jet Grouting) ด้านหลัง ส่วนด้านบนสันเขื่อนมีทางเท้า ราวกันตก และระบบระบายน้ำ
"มั่นคง มั่งคั่ง แข็งแรง"
ที่มา : กรมเจ้าท่า
ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th