รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการแถลงผลการศึกษา “โครงการประเมินกรอบหลักสูตร Cambridge International Examinations : CIE” ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในรูปแบบของคณะทำงานศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาและการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของไทย ในประเด็นหลักสูตร การเรียนการสอน การประเมินในโรงเรียน การออกข้อสอบ O-Net และอื่นๆ
ซึ่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ส่งทีมมาที่ประเทศไทย เพื่อศึกษาในเรื่องนี้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีผลการศึกษาและข้อคิดเห็นที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1) การปฏิรูปการศึกษาภาพรวมที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบคนต่างชาติโดยไม่ลืมหูลืมตา แต่ควรคิดถึงบริบทของประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะต้องทำงานร่วมกัน และมีการบูรณาการการทำงาน (Alignment) ระหว่างกัน
2) การให้ความสำคัญกับหลักสูตร การเรียนการสอน ตำราเรียน และการประเมินผล โดยจะต้องมั่นใจว่าเป็นหลักสูตรที่นักเรียนไม่ต้องเรียนมาก แต่ให้รู้ลึกและมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ส่วนการประเมินจะต้องเกิดขึ้นทันทีเมื่อเด็กได้เรียนรู้ ครูต้องเข้าใจและรู้ให้ได้ในทันทีว่า เด็กเข้าใจในสิ่งที่สอนหรือไม่ ตลอดจนมีลำดับการเรียนที่ชัดเจน แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้ข้อมูลและหลักฐาน เมื่อนั้นการปฏิรูปก็จะเกิดความสำเร็จ
ทั้งนี้ มีภารกิจใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการคือ วางกรอบมาตรฐานหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และขณะนี้ได้เตรียมร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยนำปัญหาจากการใช้หลักสูตรเดิมมาปรับมาตรฐาน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้วิเคราะห์ร่างหลักสูตรของ สสวท.แล้ว พบว่ามีส่วนที่ดีกว่าหลักสูตรเดิมหลายประการ และเสนอให้มีการปรับปรุงบางส่วน เช่น ทบทวนการประเมินผลให้สามารถประเมินได้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการด้วยความยุติธรรมและเที่ยงตรง หลักสูตรที่ดีไม่ควรเรียนมากแต่ให้เรียนในเชิงลึก มีลำดับการเรียนตามแต่ละช่วงวัยที่ชัดเจนว่า วัยใดควรเรียนอะไร เพื่อให้รู้อะไร รวมทั้งจะต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างหลักสูตร-ตำราเรียน-การสอบ มีการดึงคนเก่งเข้ามาร่วมสร้างหลักสูตร ตลอดจนให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมครูตามหลักสูตรใหม่ โดยฝึกอบรมระหว่างที่ครูยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย จากนั้นจึงมาฝึกอบรมให้ครูประจำการต่อไป
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ กล่าวได้ว่าต้องมีการล้อกันไปทั้งระบบในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ทั้งในเรื่องของหลักสูตร ตำรา การสอบ การประเมินผล การฝึกอบรม ฯลฯ และจะต้องอาศัยแรงผลักดันทั้งทางกฎหมาย ทรัพยากร ตลอดจนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และโครงการศึกษานี้ไม่ได้เป็นการนำอาหารฝรั่งมาให้กิน แต่เป็นการดูจากอาหารไทยว่า มีส่วนประกอบและสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ เราก็ยังเป็นอาหารไทยอยู่เช่นเดิม แต่หากเป็นอาหารที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็จะได้ส่งออกต่อไป
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th