นายไมตรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานอย่างเป็นระบบ โดยขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาขอทานอย่างยั่งยืน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ภายใต้หลักการ ๓P ซึ่งประกอบด้วย Policy (นโยบาย) Protection (การคุ้มครองช่วยเหลือ) Prevention (การป้องกัน) โดยกระบวนการดำเนินงานช่วยเหลือคนขอทานและคนไร้ที่พึ่ง เมื่อได้รับแจ้งหรือการประสานผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม ๑๓๐๐ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทาน คนไร้ที่พึ่ง/ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ จะลงพื้นที่เชิญตัวคนขอทานหรือคนไร้ที่พึ่ง คัดกรอง และดำเนินการช่วยเหลือตามความเหมาะสม หากเป็นขอทานไทยหรือคนไร้ที่พึ่งที่ไม่มีครอบครัว จะดำเนินการส่งต่อไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ๑๑ แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อผ่านกระบวนการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพในรูปแบบธัญบุรีโมเดล พร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน ในการสนับสนุนเป็นเงินทุนประกอบอาชีพแก่คนขอทานคนไร้ที่พึ่งที่มีความตั้งใจจะคืนสู่ครอบครัวหรือชุมชน นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านน้อยในนิคมสร้างตนเอง โดยนำคนขอทานที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ปรับทัศนคติ ฝึกฝนทักษะอาชีพ พัฒนาทักษะ การดำรงชีวิตที่ผ่านการประเมินให้สามารถไปทดลองดำรงชีวิตและประกอบอาชีพในนิคมสร้างตนเอง เป็นการสร้างโอกาสเพื่อเริ่มชีวิตใหม่
นายไมตรี กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้เปิดโครงการธัญบุรีโมเดลเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว) ซึ่งเริ่มต้นดำเนินการในพื้นที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อพัฒนาต่อยอดการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตใจ สังคม สุขภาพ และอาชีพ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกิจกรรมด้านการเกษตรนิเวศน์ในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ตามแนวคิดการให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน มีองค์ประกอบการดำเนินงาน ๔ ด้าน ได้แก่ ๑.พื้นที่ (ธัญบุรีโมเดลได้ดำเนินการเต็มพื้นที่ ๑๓ ไร่ และขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก ๑๕ ไร่ เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ) ๒.คน (ผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๖๘ คน และมีผู้ผ่านการประเมิน โดยส่งไปโครงการบ้านน้อยในนิคมสร้างตนเองแล้วจำนวน ๕ คน) ๓.กองทุน (บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด ได้บริจาคเงินจำนวน ๑ ล้านบาท เพื่อเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนใช้จ่ายในการบำบัดฟื้นฟูศักยภาพและส่งเสริมทักษะอาชีพ รวมทั้งเป็นเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพกรณีคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวหรือชุมชน) ๔.การบริหาร (มีการนำรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตมาจัดสรรให้ผู้เข้าร่วมโครงการตามจำนวนวันและศักยภาพของผู้ใช้บริการ นอกจากนี้บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้สนับสนุนพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามโครงการที่อาคาร CP Tower) ทั้งนี้ ได้มีการขยายผลสู่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ๑๑ แห่ง ทั่วประเทศแล้ว
“การลงพื้นที่วันนี้ เป็นการรับฟังการนำเสนอผลการดำเนินโครงการธัญบุรีโมเดล การพัฒนาต่อยอดกิจกรรม อุทยานรีไซเคิล การเพาะชำกล้าไม้และตัดกิ่งไม้ และการปลูกกล้วยน้ำว้า ๑,๕๐๐ ต้น การเยี่ยมชมพื้นที่โครงการธัญบุรีโมเดลและให้กำลังใจผู้ใช้บริการ พร้อมมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป” นายไมตรี กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th