อ. วินัยได้เล่าให้ฟังว่า "ฮาลาล" หมายถึง การอนุมัติ การอนุญาต สินค้าและบริการที่เป็นฮาลาล พี่น้องมุสลิมก็จะบริโภคหรือใช้บริการได้อย่างสบายใจ เพราะไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม แต่คนทั่วไปก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน โอกาสของสินค้าฮาลาลจึงไม่จำกัดเฉพาะผู้บริโภคชาวมุสลิมเท่านั้น
ประเทศไทย มีจุดแข็งในอุตสาหกรรมนี้คือ
1. เรามีผู้รับรองตราฮาลาลเพียงองค์กรเดียว คือ "สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย" ซึ่งมี Auditor เป็นมุสลิม ทำให้ตราของเรามีความน่าเชื่อถือ
2. มีหน่วยงานสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล คือ "ศูนย์วิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ทำให้ฮาลาลประเทศไทย "ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ : Religion Certifies, Halal Science Supports"
แต่เราก็ยังมีสิ่งที่ต้องเสริมแกร่ง คือ "Thailand Halal Branding" เราจะทำอย่างไรให้ทั่วโลกรับรู้ และเชื่อมั่นในสินค้าและบริการฮาลาลของไทยมากกว่าปัจจุบัน ให้คนทั่วไปทราบว่าฮาลาลไทย ไม่เป็นรองใคร ... นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก
อีกประเด็น คือ จะทำอย่างไรให้ "ความมั่งคั่ง ส่งเสริมให้สามจังหวัดภาคใต้มั่นคง" ทำให้คิดว่าการผลักดัน "SME Halal" ใน จ. ชายแดนภาคใต้จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด เราต้องให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนในโครงการ โดยมีผู้นำทางศาสนามีส่วนร่วมผลักดัน
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการแฟรนไชส์ฮาลาลที่ประสบความสำเร็จ เช่น "ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแม่ศรีวรรณ" พัฒนาออกแบบธุรกิจแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยฮาลาล ภายใต้แบรนด์ "ไทยมีส์ดี" เพื่อให้พี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะใน จ.ชายแดนภาคใต้ ได้มีอาชีพใหม่ ๆ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หรือ "The Waffle" ธุรกิจแฟรนไชส์ขนมวอฟเฟิล ที่มีการผลิตเมนูที่ใช้อินทผลัม ผลไม้ที่ชาวมุสลิมนิยมรับประทาน เป็นจุดเด่นให้กับสินค้า เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิม ทั้ง 2 เจ้านี้ ก็มีประสบการณ์ในการขยายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศกันแล้ว นี่คือ ตัวอย่างธุรกิจสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการไทย และกระทรวงพาณิชย์ พร้อมจะเป็นหน่วยสนับสนุน และชี้ให้เห็นโอกาสทางการค้า
ที่มา: http://www.thaigov.go.th