รมว.พม. สั่งการให้ใช้กลไกของ พม. จัดระบบการดูแลและแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้คนจน พร้อมเร่งสร้างชุมชนให้เข็มแข็ง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 6, 2015 15:46 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๖ ต.ค. ๕๘) เวลา ๐๘.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๒๕๕/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีเครือข่ายสลัม ๔ ภาค พร้อมเครือข่ายจำนวน ๒,๐๐๐ คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้คนจน พร้อมขอให้รัฐบาลอนุมัตินโยบายและงบประมาณสำหรับ คนเร่ร่อนไร้บ้าน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจนที่สุดของเมืองนั้น ตนได้มอบหมายให้ พอช.สรุปรายละเอียดเรื่องดังกล่าวมารายงานให้ตนทราบอีกครั้ง และได้กำชับให้ พอช. เร่งขับเคลื่อนงานดังกล่าวโดยบูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ซึ่งดูแลคนไร้บ้านอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดประชุมแนวทางการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยภาพรวมทั้งประเทศมาแล้ว ๗ ครั้ง ซึ่งจากการประชุมดังกล่าว พบว่ามีประชาชนผู้มีรายได้น้อยแต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ ๒,๗๒๑,๖๙๒ ครัวเรือน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ พอช. และ พส. เร่งจัดแผนรองรับปัญหาที่อยู่อาศัยระยะยาวและยุทธศาสตร์การดำเนินงานร่วมกันอย่างครอบคลุมและชัดเจนเป็นรูปธรรม

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการสร้างชุมชนของการเคหะแห่งชาติให้เข็มแข็งนั้น ได้กำชับให้การเคหะแห่งชาติจัดตั้งผู้นำชุมชน และให้แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่รับผิดชอบดูแลด้านเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ทำงานในรูปแบบการบูรณาการทำงานร่วมกันกับผู้นำชุมชน เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.)ควรดำเนินการจัดทำศูนย์เด็กเล็กในชุมชน กรมกิจการผู้สูงอายุและกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ (พก.) ควรส่งเสริมการจัดตั้งชมรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุและคนพิการ เป็นต้น ส่วนความคืบหน้ากรณีชาวโรฮีนจา จำนวน ๑๔ คน เป็นผู้หญิง อายุ ๑๓–๓๒ ปี จำนวน ๑๒ คน และเด็กชายอายุ ๕ ขวบ ๑ คน เด็กหญิงอายุ ๗ ขวบ ๑ คน ได้หลบหนีออกจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา ซึ่งตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา (พมจ.พังงา)ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามชาวโรฮีนจาทั้งหมดที่หลบหนีกลับมานั้น ล่าสุดได้รับรายงานว่า สามารถตามชาวโรฮีนจากลับมาครบทั้ง ๑๔ คนแล้ว โดยตนได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยของชาวโรฮีนจาที่ถูกควบคุมกลับมาอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนีได้อีก

"สำหรับกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รับมอบเงินบริจาค จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการกับเงินดังกล่าวนั้น เป็นภารกิจหน้าที่ของ พส.ที่จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป”พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ