กรมบัญชีกลาง ครบรอบ 125 ปี รายงานผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday October 7, 2015 15:59 —สำนักโฆษก

อธิบดีกรมบัญชีกลาง เผยผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2558 รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แจ้งปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อดูแลราชการและครอบครัว

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมบัญชีกลาง ครอบรอบ 125 ปี วันที่ 7 ตุลาคม 2558 ว่า ผลการดำเนินงานกรมบัญชีกลางที่สำคัญๆ ในปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558) ได้แก่ ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2558 เบิกจ่ายเงินในภาพรวมได้ 2,378,115 ล้านบาท คิดเป็น 92.4% ของวงเงินงบประมาณทั้งปี 2,575,000 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายรายจ่ายประจำได้ 2,082,573 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,125,524 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 98% ขณะที่รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 295,542 ล้านบาท คิดเป็น 65.8% ของวงเงินงบประมาณ 449,476 ล้านบาท สูงกว่าผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่เบิกจ่ายได้เพียง 58.4% ซึ่งสาเหตุที่ผลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากโครงการลงทุนของภาครัฐในบางโครงการมีงบลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนบางรายการอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการทบทวนราคาค่าก่อสร้างใหม่ เพราะต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลลดลง ทำให้ส่วนราชการต้องจัดทำราคากลางใหม่ ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายลงทุนไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับการก่อหนี้รายจ่ายลงทุน ก่อหนี้ได้ 349,996 ล้านบาท คิดเป็น 77.9% ของวงเงินงบประมาณฯ

ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ปีงบประมาณ 2548-2557 วงเงิน 351,819 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 223,307 ล้านบาท คิดเป็น 63.5% มียอดคงเหลือ 128,513 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกันฯ กรณีมีหนี้ผูกพัน 58,496 ล้านบาท และเงินกันฯ กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน 70,016 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ วงเงิน 227,876 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 154,973 ล้านบาท หรือคิดเป็น 68%, เงินทุนหมุนเวียน ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ วงเงิน 469,452 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 233,106 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49.7% และเงินอื่นๆ วงเงิน 5,896 ล้านบาท การดำเนินงานตามโครงการรัฐบาลที่สำคัญ ได้แก่ เงินกู้ไทยเข้มแข็ง (งบกระตุ้น) วงเงิน 15,200 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 12,284 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81.9% มาตรการเพิ่มรายได้ฯ ชาวนา เบิกจ่ายได้ 39,480 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98.7% ชดเชยรายได้สวนยาง เบิกจ่ายแล้ว 8,077 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98.5% โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เบิกจ่ายแล้ว 9,027 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75.2% และโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เบิกจ่ายได้ 13,296 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17%

นายมนัส กล่าวว่า การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลประจำปีงบประมาณ 2558 ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 66,476 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,106 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557

ที่เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 62,369 ล้านบาท เนื่องจากกรมบัญชีกลางได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ หลายประการ ได้แก่ 1.ปรับค่าห้อง ค่าอาหาร จากเดิม 600 บาทต่อวัน เป็น 1,000 บาทต่อวัน ค่าเตียงสามัญ จากเดิม 300 บาทต่อวัน เป็น 400 บาทต่อวัน 2.ปรับเพิ่มรายการและอัตราค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและอวัยวะเทียม ที่มีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 120 รายการ และ 3.ปรับเพิ่มการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) หรือเป็นกรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือฉุกเฉินเร่งด่วน กรมบัญชีกลางกำหนดให้นำมาเบิกจากต้นสังกัด คือ เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 8,000 บาท จากเดิมที่ไม่เกิน 4,000 บาท นอกจากนี้ กรมยังได้ขยายสิทธิประโยชน์ในโครงการเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยใน สถานพยาบาลของเอกชน กรณีนัดผ่าตัดล่วงหน้า จากเดิมมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ เพียง 30 แห่ง เป็น 96 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ และยังได้เพิ่มจำนวนโรคที่กำหนดไว้เดิม 78 โรค เป็น 86 โรค

นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 กรมบัญชีกลางได้เตรียมการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างไว้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมากรมได้มีหนังสือเวียน ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ ว 299 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ขยายวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ราคา 1 - 500,000 บาท ใช้วิธีตกลงราคา และตั้งแต่ราคา 500,000 – 2,000,000 บาท ใช้วิธีสอบราคา เพื่อให้ส่วนราชการสามารถจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว คล่องตัว และสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาลอีกด้วย โดยในปีงบประมาณ 2559 มีโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 2,000,000 บาท ทั้งสิ้น 70,000 กว่าโครงการ คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 32,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนการเบิกจ่ายเงินของมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ปี 2556-2558 วงเงินรวม 37,913 ล้านบาท และโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท โดยกรมบัญชีกลางได้เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่าย รวมทั้งผ่อนคลายวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ตามหนังสือเวียน ว 299 ข้างต้น พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และสำนักงานเขตและสำนักงานคลังจังหวัด จัดประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา และสอบราคาให้แก่ส่วนราชการ จังหวัด และนายอำเภอ รวมถึงจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางให้จังหวัด และอำเภอ ดำเนินการได้รวดเร็วและถูกต้อง

“กรมบัญชีกลางพร้อมจะดำเนินการพัฒนางาน ผ่อนคลายกฎระเบียบ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในปีงบประมาณ 2559 อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก และจะเร่งดำเนินการในการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้วงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว” นายมนัส กล่าว

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ