จากการที่ประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการเดินทางทางอากาศขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และปริมาณเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยานมีจำกัด และทำให้เกิดปัญหาความแออัดในท่าอากาศยานต่าง ๆ อาทิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นต้น นอกจากนั้น ห้วงอากาศบนน่านฟ้าไทยมีรัศมีความปลอดภัยไม่เพียงพอที่จะเพิ่มปริมาณเที่ยวบิน จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการการขนส่งทางอากาศ ขาดความตรงต่อเวลา ต้นทุนในการประกอบการของสายการบินสูงขึ้น และมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทย กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางอากาศ เพื่อสนับสนุนนโยบายเปิดเสรีการบิน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2559 – 2563) เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบิน ทั้งบนห้วงอากาศและท่าอากาศยาน และบริหารจัดการปริมาณการจราจรทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางอากาศฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณเที่ยวบินกับความสามารถในการรองรับของระบบการบินในปัจจุบัน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค
นายจุฬา สุขมานพ กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางอากาศ เพื่อสนับสนุนนโยบายเปิดเสรีการบิน และรองรับการขยายตัวของการเดินทางทางอากาศที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จะแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อควบคุมดูแลในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการจราจรห้วงอากาศ ความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยาน และการบริหารจัดสรรเวลาการขึ้น – ลงของเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินประมาณ 800,000 เที่ยวต่อปี คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า ดังนั้น กระทรวงฯ ได้วางแผนในการขอพื้นที่น่านฟ้าเพิ่มขึ้น โดยจะต้องศึกษารายละเอียดในเรื่องความจำเป็นและกฎหมายการจัดสรรห้วงอากาศ ซึ่งการเปิดเสรีการบินสามารถใช้ท่าอากาศยานอื่น ๆ นอกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง โดยจะต้องสำรวจความต้องการของท่าอากาศยานทั่วประเทศที่ให้บริการระหว่างประเทศและความสามารถในการรองรับของแต่ละท่าอากาศยาน เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานภายในประเทศให้สามารถรองรับการขยายตัวในการเดินทางทางอากาศที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและนโยบายเปิดเสรีการบินต่อไป
"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
ที่มา, ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th