วันนี้ (16 พ.ย.58) เวลา 11.30 น. ณ ห้องแถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการเรียกรับผิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า การดำเนินการเรียกรับผิดจากเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการโดยจงใจ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนทำให้รัฐได้รับความเสียหาย มี 2 วิธีด้วยกัน คือการฟ้องศาลแพ่งตามปกติ และการออกคำสั่งทางปกครอง ว่าด้วย พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 และจากการหารือร่วมกับคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่ได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เห็นควรใช้คำสั่งทางปกครอง ซึ่งการใช้คำสั่งดังกล่าวสุดท้ายจบที่ศาลเช่นเดียวกัน รวมถึงคดีความใช้เวลา 5-10 ปี จึงไม่ใช่เป็นการเร่งรัด
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการ หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมา กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งผลสอบของกระทรวงพาณิชย์ นั้น นายกรัฐมนตรีได้มีการลงนาม และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งแล้ว
ส่วนการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง ยังต้องรอ เนื่องจากได้ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้ เพราะยังมีพยานรอเข้าให้ข้อมูล และหากพยานไม่ว่าง ทางคณะกรรมการฯ สามารถขอขยายเวลาได้อีก แต่ต้องเหลือเวลาให้คณะกรรมการเรียกรับผิดทางแพ่งทำงานให้แล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์ 2560 และเมื่อมีผลออกมาเป็นเช่นไร ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์ศาลปกครองได้ใน 15 วัน เพิกถอนคำสั่งได้ หากผลออกยืนยันต้องจ่ายค่าความเสียหาย ผู้ถูกกล่าวหาไม่เห็นด้วยยังอุทธรณ์อีกครั้งกับศาลปกครองสูงสุดได้
อย่างไรก็ตาม หากศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธชดใช้ ศาลจะมีคำสั่งทำการยึดทรัพย์ โดยมีระยะเวลา 10 ปี ซึ่งใน 10 ปี ยึดทรัพย์ได้มีเท่าไรก็เท่านั้น แต่เมื่อถึงปีที่ 11 เกิดถูกหวย 2-3 งวดติดกัน ตอนนั้นก็ไปยึดทรัพย์เขาไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกัน ในชั้นศาลปกครองผู้ขอให้ยกเลิกคำสั่งทางปกครอง สามารถไม่ไปศาลเลยก็ได้ มอบหมายให้ทนายดำเนินการแทนได้ รวมถึงจะไปต่างประเทศก็ได้ ยกเว้นกรณีมีคำสั่งอย่างอื่นห้ามออกนอกประเทศ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ วิธีการออกคำสั่งทางปกครองใช้กันมา 19 ปี ดำเนินคดีมาแล้วกว่า 5,000 คดี อาทิ คดีรถและเรือดับเพลิง เรือขุดเอลลิดคอท คดีคลองด่านและคดีที่ดินสถานีขนส่งหมอชิต เป็นต้น ซึ่งใน 5,000 คดีมีทั้งที่รัฐเป็นฝ่ายแพ้ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายชนะ ที่สำคัญหากให้กลับไปใช้วิธีฟ้องแพ่งธรรมดาก็จะมีคำถามตามว่า ทำไมไปใช้วิธีการนั้น เพราะโดยรูปคดีรัฐบาลจะเสียเปรียบ และอาจถูกผู้ที่ถูกดำเนินคดีใน 5,000 คดี มาร้องขอความเป็นธรรมให้ไปใช้วิธีฟ้องแพ่งธรรมดาได้
รองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ทั้ง 2 วิธี เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่วิธีเถื่อน ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ ไม่ใช่วิธีพิเศษที่ปฏิบัติเฉพาะกิจในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลไม่ได้มีอคติ เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำเพื่อผลประโยชน์โดยรวม และตระหนักดีว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับความเป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือแล้ว และจะนำมาพิจารณาให้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่เมื่อเกิดความเข้าใจผิด รัฐบาลก็ไม่สามารถปล่อยหรือให้ถูกมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้
พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลใช้หลักนิติธรรม ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง หรือจ้องล้างจองผลาญ เรื่องของเมตตาธรรมต้องมองอยู่แล้ว แต่ในแง่กฎหมายความเมตตาธรรมต้องมาทีหลัง กฎหมายต้องเป็นตัวตั้ง และถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการก็อาจมีความผิดมาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่
ที่มา: http://www.thaigov.go.th