บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุน ครอบคลุมโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมตั้งแต่ 1 มกราคม 57 - 30 มิ.ย. 59 ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-4 ปี พร้อมเพิ่ม 10 กิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)

ข่าวทั่วไป Monday November 16, 2015 10:23 —สำนักโฆษก

บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุน ครอบคลุมโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมตั้งแต่ 1 มกราคม 57 - 30 มิ.ย. 59 ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-4 ปีพร้อมเพิ่ม 10 กิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) รวมทั้งอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 15 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาท คาด ช่วยสร้างรายได้ในประเทศจากการซื้อวัตถุดิบปีละ 1 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (16 พ.ย.58) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 6/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ประธานฯ แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า สิ่งที่ต้องการคือการที่จะเร่งรัดกระบวนการการลงทุนให้มีความชัดเจนสอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ซึ่งจะต้องสร้างการเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบและสร้างการรับรู้กับประชาชนทั้งในพื้นที่และต่างประเทศให้เกิดความเข้าใจโดยเร็ว เช่น เรื่องของการขับเคลื่อนและการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผย ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเร่งเปิดโครงการ ทั้งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ทั่วไป ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขในการให้ส่งเสริม โดยโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่เริ่มมีการผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-4 ปี ซึ่งวิธีการให้สิทธิประโยชน์จะขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินลงทุนจริงในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนด ดังนี้

กรณีที่ 1) มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเงินลงทุนภายในเดือนมิถุนายน 2559 พื้นที่ทั่วไปและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มเติม 4 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี

กรณีที่ 2) มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินลงทุนภายในมิ.ย.2559 พื้นที่ทั่วไปและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี

กรณีที่ 3) มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินลงทุนภายในธ.ค.2559 พื้นที่ทั่วไปและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี +ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี

กรณีที่ 4) มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร ไม่ถึงร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ภายในธ.ค.2559 แต่สามารถเริ่มผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560 พื้นที่ทั่วไปได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี

พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มกิจการเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 10 ประเภทกิจการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถเริ่มดำเนินการได้เร็ว นักลงทุนในท้องถิ่นมีศักยภาพที่จะดำเนินการผลิตและเป็นการผลิตสินค้าที่อยู่ในความต้องการของตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ 1. กิจการอบพืชและไซโล 2. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 3. กิจการผลิตโครงสร้างโลหะสำหรับงานก่อสร้างหรืองานอุตสาหกรรม 4. กิจการผลิตสิ่งพิมพ์ทั่วไป 5. กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 6. กิจการผลิตวัสดุก่อสร้างและกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค ยกเว้นกระเบื้องมุงหลังคาเซรามิกส์และกระเบื้องปูพื้นหรือผนัง) 7. กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน (ยกเว้นเครื่องสำอาง) 8. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค 9. กิจการผลิตสิ่งของจากเยื่อหรือกระดาษ 10. กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและ/หรือคลังสินค้า

          ทั้งนี้ กิจการ 1-4 เป็นกลุ่มกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมอยู่แล้วในปัจจุบัน จึงให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีและลดหย่อนร้อยละ 50 ในปีที่ 9-13            ส่วนกิจการที่ 5-10 เป็นกลุ่มกิจการที่ถูกยกเลิกให้การส่งเสริม ไปแล้ว จึงได้กำหนดเงื่อนไขให้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือนมิถุนายน 2559 และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี            เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1-2 ครอบคลุม 90 ตำบล 23 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 จังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร  จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดสงขลา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 จังหวัดเชียงราย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนราธิวาสนอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่าง ๆ จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 37,516.6  ล้านบาท  ประกอบด้วย
          กิจการในกลุ่มกิจการด้านการเกษตร ได้แก่  โครงการที่ 1-5 บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตไข่ไก่และไก่รุ่น เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,439 ล้านบาท  ประกอบด้วย โครงการที่ 1 ตั้งกิจการในจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง  โครงการที่ 2 ตั้งกิจการในจังหวัดสตูลและสงขลา  โครงการที่ 3 ตั้งกิจการในจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก โครงการที่ 4 ตั้งกิจการในจังหวัดระนองและสุราษฎร์ธานี  และโครงการที่ 5 ตั้งกิจการในจังหวัดนครราชสีมาและร้อยเอ็ด  โดยทั้ง 5 โครงการ   คาดว่าจะก่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศ มีมูลค่ากว่า 3,781 ล้านบาทต่อปี และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตอาหารจากไข่ไก่ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 6.บริษัท ที คิว  อินดัสทรีสตาร์ช จำกัด ได้รับการส่งเสริมในกิจการ ผลิตแป้งมันสำปะหลัง ( NATIVE STARCH ) เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท  ตั้งกิจการที่จังหวัดสระแก้ว โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหัวมันสำปะหลังสด ปีละประมาณ 600,000 ตัน มูลค่าปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท   เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรภายในประเทศ ได้แก่ มันสำปะหลัง 7.บริษัท ไวส์วูดส์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง  ( MEDIUM   DENSITY FIBERBOARD )  เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,100 ล้านบาท ตั้งกิจการที่จังหวัดเพชรบุรี  โดยแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลางนี้ จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรม  เครื่องเรือน และวัสดุก่อสร้าง  ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเช่น เศษไม้ กิ่งไม้ ปีกไม้ยางพารา มูลค่าประมาณ 1,158 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจากการส่งออกร้อยละ 808.บริษัท เมโทร อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดปาร์ติเกิลบอร์ด เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,400 ล้านบาท ตั้งกิจการที่จังหวัดปราจีนบุรี  คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เศษไม้  จากไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส และไม้มะม่วง  ประมาณ 1,883 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือนและอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง9.บริษัท ไท่ผิง  เอทานอล จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตเอทานอล 99.5% และก๊าซชีวภาพ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท ตั้งกิจการที่จังหวัดสระแก้ว โครงการนี้มีมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศเช่น มันสำปะหลังประมาณ 1,215 ล้านบาทต่อปี เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนจากวัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศ         กิจการในกลุ่มแร่ เซรามิกส์10. บริษัท เซรามิค อุตสาหกรรมไทย จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตกระเบื้องเซรามิกส์    เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,573  ล้านบาท ตั้งกิจการที่จังหวัดสระบุรี ใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 62 ล้านบาทต่อปี ก่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นช่างเทคนิคและวิศวกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการทำลวดลาย การขึ้นรูปเซรามิกส์เป็นหลัก11.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก กลาส จำกัด  ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตขวดแก้ว เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,464 ล้านบาท  ตั้งกิจการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา  โดยวัตดุดิบส่วนหนึ่งจะนำเศษแก้วกลับมาใช้ ทำให้ช่วยลดปัญหาสภาพแวดล้อม โดยมีมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศปีละประมาณ 287 ล้านบาท12.บริษัท ไทย – เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด ( มหาชน ) ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตท่อเหล็กไร้สนิม (STAINLESS STELL TUBE OR PIPE) เงินลงทุนทั้งสิ้น 875.3 ล้านบาท ตั้งกิจการที่จังหวัดระยอง โครงการนี้มีแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการให้พนักงานเรียนรู้เทคนิคการผลิตจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนี                กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบา13.บริษัท ไทย ยูนิจิกะ สปันบอนด์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิต SPUNBOND  NON-WOVEN FABRIC  เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,124.5  ล้านบาท ตั้งกิจการที่จังหวัดปทุมธานี โครงการนี้ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่นPET CHIP , PAPER TUBE มูลค่าปีละประมาณ  310 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศ        กิจการบริการ และสาธารณูปโภค14.บริษัท  สยามเคเบิล โฮลดิ้ง  จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,500 ล้านบาท  ตั้งกิจการที่จังหวัดสงขลา   โครงการนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานลม  สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี(ปี 2555- 2564 )           15.บริษัท ไทยไลอ้อน  เมนทารี  จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,440.8 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการเพิ่มจำนวนเครื่องบินเพื่อเสริมเส้นทางบินในประเทศ เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน  ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

----------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ข้อมูล:สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก บีโอไอ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ