นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานและสถานศึกษา 5 ด้าน คือ การป้องกัน การค้นหา การรักษา การเฝ้าระวัง และการบริหารจัดการ โดยใช้กลยุทธ์ "4 ต้อง 2 ไม่" คือ สถานศึกษาต้องมียุทธศาสตร์การทำงาน มีแผน มีระบบ มีเครือข่าย โดยไม่ปกปิดข้อมูล และไม่ไล่นักเรียนออกจากสถานศึกษา
ซึ่งสถานศึกษาในสังกัดได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการในการป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 2-25 ปี รวมทั้งการหาวิธีการป้องกันที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่เด็กปฐมวัย เยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษาที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติด โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ หรืออื่นๆ ตามความเหมาะสม
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผู้บริหาร คณะครู และผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษาสามารถหยุดการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้ในระดับดีมาก โดยได้รับความร่วมมือในการเฝ้าระวัง และการให้ความช่วยเหลือจากผู้ปกครองและเครือข่าย ผู้นำท้องถิ่น และสำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจในการป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากภัยอันตรายของยาเสพติด
ดังนั้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้พิจารณาผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับผู้ที่มีการปฏิบัติงานดีเด่น เพื่อรับโล่รางวัลเชิดชูเกียรติเสมา ป.ป.ส. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2555 จำนวน 3 ครั้ง
การมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ ป.ป.ส.ครั้งนี้ เป็นการมอบโล่ฯ ครั้งที่ 4 ประกอบด้วยหน่วยงาน สถานศึกษา และบุคลากร จำนวนทั้งสิ้น 1,890 คน
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติว่า รู้สึกประทับใจและยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัลในวันนี้ เพราะการแก้ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาสำคัญและเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่จะต้องดูแลและตรวจสอบความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาในสังกัด โดยมาตรการป้องกันยาเสพติดของแต่ละสถานศึกษาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของสถานศึกษา นักเรียน ชุมชน สังคม และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวชี้แนะให้เกิดกิจกรรมที่นำมาเป็นนโยบายในการแก้ปัญหายาเสพติดให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหา
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำลังดำเนินการตาม Road Map ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะมีระยะเวลาถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ดังนี้
1. การดูแลบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีเหตุมีผล โดยเปรียบบุคลากรทางการศึกษาว่า เป็นเสมือนม้าศึกที่จะร่วมรบไปกับรองแม่ทัพ (รมว.ศึกษาธิการ) และแม่ทัพใหญ่ (นายกรัฐมนตรี) จึงเน้นให้ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและบุคลากรต่างมอบสิ่งดีๆ ซึ่งกันและกัน ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่จะเข้ามาดูแลบุคลากรทางการศึกษาในขณะนี้คือเรื่องหนี้สิน ในเบื้องต้นจะพยายามให้ครูปรับตัวเองโดยการที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นหนี้ใคร โดยได้สั่งการให้มีการตรวจสอบบัญชีเงินเดือนครูว่ามีการหักภาระหนี้สินต่างๆ จากเงินเดือนมากน้อยเพียงใด เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป
2. นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) ซึ่งจะดำเนินการนโยบายดังกล่าวกับโรงเรียนนำร่อง 3,800 แห่ง ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2558
3. การปรับหลักสูตรภาษาอังกฤษ โดยจะเน้นให้นักเรียนได้เรียนเนื้อหามากกว่าไวยากรณ์ และเน้นภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เพื่อให้เด็กสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ ไม่กลัวที่จะพูดคุยกับชาวต่างชาติ
4. ปรับสังกัดของอาชีวะเอกชน จากเดิมสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ให้เข้ามาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แทน เพื่อส่งเสริมให้การอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนมีมาตรฐานเดียวกัน
5. ให้ความสำคัญกับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาระดับที่เกี่ยวข้องมีทุนทรัพย์ในการเรียน ในสาขาที่ขาดแคลน
6. การแก้ปัญหาการทุจริต เช่น สกสค., องค์การค้าของ สกสค. ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังเข้าไปแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
7. นโยบายด้านงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีความพร้อมด้านงบประมาณ แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากงบประมาณได้เต็มที่ จึงได้มีแนวทางในการนำงบประมาณต่างๆ มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การจ้างครูที่อายุเกิน 60 ปี มาทำการสอนในรายวิชาที่ขาดแคลนครู รวมถึงงบประมาณในการประชุมสัมมนาของข้าราชการกว่า 1,300 ล้านบาท ฯลฯ ดังนั้น การใช้งบประมาณจะต้องสอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กล่าวคือ เมื่อใช้งบประมาณทางการศึกษาจำนวนมาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจะต้องดีด้วย
8. บทบาทของผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา กำลังพิจารณาถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ในการกระจายอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาลงไปในแต่ละอำเภอ
9. การประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอก จากการหารือกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เนื่องจากตัวชี้วัดในการประเมินยังไม่สอดคล้องกับนโยบายที่กระทรวงกำลังขับเคลื่อน รวมทั้งมีการหารือเกี่ยวกับการแบ่งระดับ (Division) ของโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่ทุกโรงเรียนในการประเมิน ดังนั้น หากจำเป็นก็อาจจะต้องเลื่อนการประเมินออกไปก่อน
10. การประเมินเพื่อมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครู จะปรับให้มีการประเมินหลายแบบ โดยเน้นไปที่การประเมินจิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่เน้นการประเมินจากเอกสาร
ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th