ปัจจุบัน ทดม. มีระบบการระบายน้ำแบบระบบปิดสูบระบายน้ำจากสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่รอบ ทดม. จำนวน 12 สถานี ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ 48,840 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มีสถานีสูบระบายน้ำของกองทัพอากาศ จำนวน 2 สถานี สามารถสูบระบายน้ำได้ 26,500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และมีบ่อเก็บน้ำทางด้านทิศเหนือของ ทดม. สามารถรับน้ำได้ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจในระบบป้องกันน้ำท่วมขังในท่าอากาศยาน ทดม. ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม จำนวน 2 เครื่อง สามารถสูบระบายน้ำลงสู่ลำรางสาธารณะบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาเข้า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และดำเนินการพร่องน้ำในพื้นที่ ทดม. ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน นอกจากนั้น ทอท. จะทบทวนและออกแบบระบบระบายน้ำของ ทดม. ใหม่ เนื่องจาก ทดม. ก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคทั้งภายในและภายนอก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ ตลอดจนการก่อสร้างแนวเนินสะดุดช่องทางเข้า – ออก เพื่อเป็นแนวกั้นน้ำจากถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งสามารถรองรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ ทอท. ได้ประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการระบายน้ำในพื้นที่โดยรอบ ทดม. และหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงให้ดำเนินการเร่งรัดการวางท่อระบายน้ำทดแทนลำรางระบายน้ำสาธารณะริมทางรถไฟที่ถูกถมกลบ และขุดลอกลำรางระบายน้ำให้สามารถสูบระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป
"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
ที่มา : บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th