สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทในการเป็นห้องปฏิบัติการกลางของประเทศ ให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคนิคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแก่นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมในการแก้ปัญหาในการกระบวนการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
ระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์ (Macromolecular Crystallography Beamline) ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สร้างขึ้นเพื่อรองรับการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูง เพื่อหาโครงสร้างสามมิติของสารชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ อาทิ โปรตีน และกรดนิวคลีอิก รวมทั้งโมเลกุลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับอะตอม การศึกษาโครงสร้างระดับอะตอมของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกการทำงานของโปรตีน และเอนไซม์ที่สำคัญในสิ่งมีชีวิต เพื่อพัฒนายารักษาโรค ออกแบบตัวยาใหม่ๆ แก้ไขปัญหาการดื้อยา อีกทั้งปรับปรุงเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์ ถือเป็นระบบลำเลียงแสงแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญและมีบทบาทในการเพิ่มศักยภาพของการศึกษาวิจัยทางด้านผลึกศาสตร์ และรองรับการวิจัยพัฒนาทางด้านชีววิทยาโครงสร้าง (Structural Biology) ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป
ในโอกาสนี้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการความร่วมมือ ระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์ ความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งสถานวิจัยร่วมเพื่อการใช้แสงซินโครตรอน มทส. - นาโนเทค- ซินโครตรอน โครงการศึกษาและพัฒนาคุณภาพไข่มุกน้ำจืด โครงการวิจัยกระจกเกรียบจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และโครงการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับบำบัดมะเร็ง อีกด้วย
ข้อมูลข่าวโดย : ประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
เผยแพร่ข่าวโดย : นายภูษิต โพธิ์แสง
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th