ไทยย้ำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงลำพังเพียง แต่จะต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาค และในระดับโลก

ข่าวทั่วไป Thursday November 19, 2015 14:11 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Retreat 1) ภายใต้หัวข้อ “Inclusive Growth Through Integrated Economies” (การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมผ่านเศรษฐกิจที่บูรณาการ) ร่วมกับผู้นำ 20 เขตเศรษฐกิจ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม PICC

วันนี้ (19 พ.ย. 2558) เวลา 10.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังศูนย์การประชุม PICC เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Retreat 1) โดยได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งการประชุมในช่วงนี้ มีหัวข้อการประชุม คือ Inclusive Growth Through Integrated Economies โดยผู้นำจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและจุดยืนของตนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมผ่านการบรูณาการทางเศรษฐกิ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแสดงความเสียใจร่วมกับผู้นำเอเปค ต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นกำลังใจให้แก่ครอบครัวของผู้สูญเสียในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยขอประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมต่อมนุษยชาติครั้งนี้ และจะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ

พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงจุดยืนและบทบาทของไทยในการสนับสนุนบทบาทของเอเปค ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับฉันทามติระหว่างประเทศ และการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ในสหประชาชาติ ซึ่งในปี 2559 ไทย ในฐานะประธานกลุ่ม 77 จะผลักดันและขับเคลื่อนการอนุวัติการ SDGs อย่างเต็มความสามารถไทยเห็นว่า เอเปคควรเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึง มีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม ธรรมาภิบาล และรักษาวัฒนธรรมควบคู่กันไปประการแรก ทุกประเทศควรร่วมกันส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้เป็นปึกแผ่น รวมถึงร่วมกันเสริมสร้างขีดความสามารถ ส่งเสริมการปฏิรูปในด้านต่างๆ และสร้างความแข็งแกร่งจากภายในแต่ละเขตเศรษฐกิจ เนื่องจากเอเปคเป็นเวทีที่สามารถร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและของโลกได้ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันถึงจุดยืนของไทยที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายโบกอร์ในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ภายในปี ค.ศ. 2020 นอกจากนี้ ไทยยินดีกับความสำเร็จในการบรรลุการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และหวังว่า เอเปคจะสามารถบรรลุการจัดตั้ง FTAAP ได้โดยเร็ว

ประการที่สอง ทุกประเทศควรปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศไปพร้อมๆกัน โดยเอเปคควรเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพประเทศสมาชิก เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศโดยขณะนี้ ไทยมุ่งมั่นในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน โดยให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น การพัฒนา SMEs และการให้ความคุ้มครองทางสังคม โดยดำเนินการบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุล เพื่อความยั่งยืนเพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม สมาชิกเอเปคควรร่วมกันส่งเสริมขีดความสามารถ เพื่อช่วยประเทศสมาชิก ในการบูรณาการภาคธุรกิจสำคัญๆในห่วงโซ่มูลค่าโลก (global value chain) และในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศและในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ไทยชื่นชมและสนับสนุนแผนปฏิบัติการบอราไคย์ ในการผลักดันให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีส่วนร่วมในตลาดโลกและห่วงโซ่มูลค่าโลก แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทาย แต่ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ MSMEs โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นวิธีการที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาวประการสุดท้าย การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมนั้น หมายถึงการที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทุกประเทศสมาชิกเอเปคหามาตรการความร่วมมือที่ช่วยให้ประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจสามารถเติบโตไปพร้อมๆกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “ไทยบวกหนึ่ง” ของรัฐบาล เมื่อนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในไทย ไทยจะเสนอให้ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตร่วมกัน และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจในประชาคมอาเซียนทั้งนี้ แนวคิด “ไทยบวกหนึ่ง” มุ่งที่จะส่งเสริมการเติบโตของชุมชน พร้อมกับเชื่อมโยงอุปทานและห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อให้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านก้าวหน้าไปพร้อมกัน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามบริเวณชายแดนไทยกับเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเข้าด้วยกัน รวมถึงแนวคิดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยการรวบรวมธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ultra-modern manufacturing sector) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 2 รูปแบบนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ฐานการผลิตในภูมิภาค ไม่เพียงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ยังรวมถึงการนำไปสู่การพัฒนาที่มากขึ้นและยั่งยืนด้วยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงลำพังเพียงประเทศเดียว แต่จะต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาค และในระดับโลก พร้อมย้ำว่าไทยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิกเอเปคในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และในโลก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ