รองนรม.สมคิดฯ ตรวจเยี่ยมกระทรวงเกษตรฯ แนะให้มีมิสเตอร์ productivity รับผิดชอบพืชผลการเกษตรแต่ละชนิดอย่างจริงจัง เพิ่มปริมาณคุณภาพและมูลค่าให้มากขึ้นสอดรับนโยบายประชารัฐสร้างความเติบโตจากภายใน

ข่าวทั่วไป Thursday November 19, 2015 14:17 —สำนักโฆษก

วันนี้ (19 พ.ย.58) เวลา 12.00 น. ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ภายหลังตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 1/2558 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างความเติบโตจากภายในหรือประชารัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกรอย่างชัดเจน ซึ่งจากการได้หารือร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ นั้น ต้องการให้มีการแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่1 คือระยะสั้น โดยให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ขณะนี้ยังได้รับความลำบากอยู่ประกอบกับในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้าอาจจะประสบปัญหาในเรื่องภัยแล้งซึ่งยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสถานการณ์จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงมีแนวทางในการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มลงไปช่วยเหลือแล้ว โดยการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้นก็จะมีมาตรการเสริมเข้ามาในเรื่องของการจ้างงานในชุมชนและพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเกษตรอย่างแท้จริงผ่านศูนย์บูรณาการเรียนรู้การเกษตร 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย จะร่วมกันบูรณาการทำงานดังกล่าวโดยยึดพื้นที่เป็นหลักในการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อพัฒนาตนเองและรู้จักการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์พืชผลทางเกษตรเพื่อสร้างมูลค่า และร่วมกันพัฒนาชุมชนของตนเองให้เข็งแรงขึ้นตามหลักประชารัฐ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรดังกล่าว

ส่วนที่ 2 ระยะปานกลางและระยะยาว ขอให้ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อส่งเสริมอาชีพและการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่นอกจากการปลูกข้าว เช่น การเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตสำหรับช่วยเหลือเกตรกร เช่น เครื่องหว่านไถ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างการเพาะปลูกพืชเกษตร (Zoning) และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่า รวมทั้งการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวต้องมีการกำหนดผู้ที่รับผิดชอบในพืชผลผลิตทางการเกษตรแต่ละชนิดอย่างชัดเจนและจริงจัง โดยมอบหมายให้เป็นมิสเตอร์ productivity ซึ่งจะทำให้สินค้าทางการเกษตรแต่ละประเภทดีขึ้นทั้งปริมาณคุณภาพและมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะเป็น ข้าว ผลไม้ หรือพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการตรงนี้จะสอดรับกับเรื่องประชารัฐที่เติบโตจากภายในตามนโยบายรัฐบาล และหากมีงบฯ มากขึ้นรัฐบาลก็พร้อมสนับสนุน โดยเฉพาะการนำงบฯ จากการประมูล 4G คลื่น 900 MHz บางส่วนมาดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคเข้มแข็ง ทั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งภาคเอกชน สถานบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถและชำนาญอยู่แล้ว

สำหรับเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing นั้น กรมประมงจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้สนับสนุนในเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะกำกับดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่เหลือต่อจากนี้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้าไปดูแลฟื้นฟูในเรื่องของสหกรณ์การเกษตรอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องของทรัพยากรและบุคลากร ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

          พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งการตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้นมาก็เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้ NPLs ของเกษตรที่เป็นหนี้อยู่ในสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยรัฐบาลได้ให้อำนาจคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำหนี้เหล่านี้ออกมาและหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ยังจะเป็นกลไกสำคัญในการทำงานเรื่องประชารัฐตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งผู้แทนของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ยินดีที่จะสนับสนุนและเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนในเรื่องนโยบายประชารัฐของรัฐบาล อย่างไรก็ตามต้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ และองค์ประกอบ รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ให้เรียบร้อยก่อนและให้มีการกำหนดวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนสอดคล้องกับงบประมาณในการที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป         --------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ