15 ตุลาคม 2558 / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีมนักวิทยาศาสตร์กระทรวงวิทย์ฯ แถลงข่าวผลการประกาศรางวัลโนเบล ประจำปี 2015 ในสาขาวิทยาศาสตร์ 3 สาขาได้แก่ฟิสิกส์ เคมีและสรีรวิทยาหรือการแพทย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศและความสำคัญของการพัฒนากำลังคนในระดับสากล โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวหลายท่านได้แก่ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยวิศวกรรมโปรตีน-ลิแกนและชีววิทยาโมเลกุลศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และดร.ดนยา ปโกฏิประภา อาจารย์ประจำภาค วิชาเคมีและหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโปรตีนและเอนไซม์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกันนี้ ยังชวนนักเรียนไทยเรียนรู้จากโจทย์จริงที่อาจไม่มีคำตอบเพื่อเป็นการฝึกฝนตนเองในการพัฒนาองค์ความรู้ในอนาคต
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ราวเดือนตุลาคมของทุกปีราชบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน กรุงสตอกโฮล์มจะประกาศรางวัลโนเบลเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างผลงานที่เป็นคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ โดยในปีนี้ รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เป็นของ 2 นักวิจัย ทากาอาคิ คาจิตะชาวญี่ปุ่น และอาเธอร์ บี. แมคโดนัลด์ ชาวแคนาดา จากการทดลองที่ยืนยันว่า อนุภาคนิวตริโนมี ‘มวล’ อยู่จริง ซึ่งปูทางไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งต่อพลังงานและการวิวัฒนาการของจักรวาลได้สำหรับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเป็นของนักวิทยาศาสตร์ 3 คน คือ โทมัส ลินดาห์ล ชาวอังกฤษ พอล มอดริช และอาซิซ แซนคาร์ ชาวอเมริกัน สำหรับการศึกษากลไกการซ่อมแซมดีเอ็นเอ อันนำไปสู่ความเข้าใจในการทำงานของเซลล์สิ่งมีชีวิตซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งแบบใหม่และสุดท้ายในสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ตกเป็นของนักวิทยาศาสตร์ 3 คน ได้แก่ วิลเลียม ซี. แคมป์เบลล์ ชาวไอร์แลนด์ ซาโตชิ โอมุระ ชาวญี่ปุ่น จากการค้นพบวิธีใหม่ในการรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากพยาธิตัวกลม และโยวโยว ถู ชาวจีน จากการค้นพบวิธีใหม่ในการรักษาโรคมาลาเรีย ในการนี้ ซาโตชิ โอมุระ และโยวโยว ถู เคยได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในสาขาการแพทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 และปี พ.ศ. 2546 ตามลำดับ ด้วยเช่นกัน
“รางวัลโนเบลเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานเชิงประจักษ์ต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกซึ่งเราหวังว่าคนไทยจะได้รับโอกาสเชิดชูเกียรติเช่นนี้ในอนาคตบ้าง โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้สร้างโอกาสให้กับนักเรียนไทยได้สัมผัสกับวิทยาการและนักวิทยาศาสตร์ในระดับโลก เช่น การคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา อีกทั้งยังมีการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมประชุม Asian Science Camp ที่จัดขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีโครงการนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ให้ทุนการศึกษากับนักเรียนไทยได้ไปเรียนรู้กับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก รวมถึง การสร้างเครือข่ายการวิจัยในนานาประเทศ ซึ่งในอนาคตคนเก่งเหล่านี้จะกลับมาด้วยประสบการณ์ในระดับแนวหน้าของโลก และสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้” ดร.พิเชฐ กล่าว
ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กล่าวว่า รางวัลโนเบลมอบให้กับผู้มีผลงานที่มีคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นไม่ได้เริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อให้ได้รับรางวัลโนเบล แต่เริ่มต้นจากการสนุกกับการค้นคว้าหาคำตอบโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และค้นพบสิ่งใหม่โดยไม่มีที่สิ้นสุด ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า “สำหรับคนไทยนั้นควรเน้นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังเร่งดำเนินการ เยาวชนไทยสามารถใช้เป้าหมายนี้ในการพัฒนาตนเองได้โดยเริ่มต้นจากการฝึกฝนตนเองให้มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆและเริ่มทำโครงงานที่มีประโยชน์ต่อคนใกล้ตัวแก้ปัญหาให้กับท้องถิ่น สังคมและชุมชน ต่อไปการศึกษาอาจสร้างผลกระทบในวงกว้างไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่อาจเป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลกได้ และวันหนึ่งคนไทยก็อาจได้รับรางวัลโนเบลได้”
รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา กล่าวถึงรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ว่าเป็นการลบล้างทฤษฎีดั้งเดิมเกี่ยวกับ “นิวตริโน” ว่าไม่มีมวลและสามารถทะลุผ่านทุกๆ สิ่งโดยไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ นิวตริโนนี้ เริ่มต้นจากปฏิกิริยาฟิวชันที่แกนกลางดวงอาทิตย์วิ่งทะลุผิวดวงอาทิตย์ออกมาทุกทิศทางด้วยความเร็วสูงและเดินทางมาถึงโลกและทะลุผ่านโลกและร่างกายของเราไปอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองที่ได้รับรางวัลโนเบลสามารถสร้างอุปกรณ์ที่ตรวจจับนิวตริโนผ่านปฏิกิริยานิวเคลียร์ได้ และไขปริศนาที่ค้างอยู่นานกว่ายี่สิบปีได้ อีกทั้งยังค้นพบว่านิวตริโนทั้ง 3 ชนิดได้แก่ นิวตริโนอิเล็กตรอน นิวตริโนมิวออน และนิวตริโนทาว สามารถเปลี่ยนแปลงไปมาหากันได้ ซึ่งการค้นพบนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจในเรื่องของอนุภาคมูลฐานมากขึ้น และยังพบว่าทฤษฎีแบบจำลองมาตรฐาน (Standard Model) นั้นยังไม่สามารถนำมาอธิบายทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับอนุภาคได้ทั้งหมดจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุงทฤษฎีดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์
ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ กล่าวว่า รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์เป็นเรื่องการค้นพบยาใหม่ ที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติในการรักษาโรคเท้าช้าง (Lymphatic Filariasis) โรคตาบอดแถบแม่น้ำ (River Blindness) และโรคมาลาเรีย (Malaria) ซึ่งมีผลกระทบต่อประชากรโลกหลายล้านคนต่อปี ซึ่งในประเทศไทยก็มีการระบาดของโรคมาลาเรียและโรคเท้าช้างตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในประเทศไทยก็มีหน่วยงานวิจัยและการศึกษาหลายหน่วยงานที่ทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับการพัฒนายาสำหรับโรคติดเชื้อนี้ เช่นที่ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีนลิแกนด์และชีววิทยาโมเลกุล หน่วยวิจัยชีววิทยาโมเลกุลทางแพทย์ ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ได้ทำการศึกษาพัฒนาเพื่อค้นหายาใหม่ที่สามารถฆ่าเชื้อมาลาเรียดื้อยามาเป็นเวลานาน และได้ค้นพบสารออกฤทธิ์ที่ผ่านการศึกษาในระดับพรีคลินิคแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเป็นยารักษาโรคมาลาเรียต่อไป รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปีนี้เป็นการย้ำถึงการให้ความสำคัญในการพัฒนายาหรือวิธีการใหม่เพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่ส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมากโดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วย
รางวัลโนเบลสาขาเคมี
ดร.ดนยา ปโกฏิประภา เจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีเด่น ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2556 เกี่ยวกับการศึกษาโครงสร้างและชีวเคมีของโปรตีนที่ทำหน้าที่ซ่อมแซมดีเอ็นเอแบบนิวคลีโอไทด์ เอ็กซิชั่นจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีนี้ ว่าเกี่ยวข้องกับการศึกษากลไกการซ่อมแซมดีเอ็นเอ (DNA repair) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดเมื่อดีเอ็นเอได้รับความเสียหายจากกระบวนการต่างๆในชีวิตประจำวันได้ เช่น อนุมูลอิสระที่เกิดจากการหายใจระดับเซลล์รังสีอัลตราไวโอเล็ตจากแสงอาทิตย์ ตลอดจนสารเคมีจากควันบุหรี่เป็นต้น และไม่ได้รับการซ่อมแซมจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการต่างๆ ของเซลล์และอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์และก่อให้เกิดโรงมะเร็งได้ การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสามคนเปิดประตูสู่การประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเคมีบำบัด (chemotherapy) และรังสีรักษา (radiotherapy) ให้มีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงต่ำเพื่อใช้ในผู้ป่วยมะเร็งพัฒนาวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดต่างๆ เพื่อเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมและอาจนำไปใช้ในการพัฒนายาปฏิชีวนะและยาต้านปรสิตได้อีกด้วย
ประสานงานได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th