“อรรชกา” เผย สมอ.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ขออนุญาต มอก. พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 15 วันทำการ สั่งอุตสาหกรรมจังหวัดปูพรมเคลียร์ปัญหาดันให้เปิดโรงงานใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ส่วนประเด็นเหมืองทองคำ เตรียมตั้งคณะกรรมการฯ หาข้อสรุปทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อี

ข่าวทั่วไป Friday October 16, 2015 15:00 —สำนักโฆษก

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องเหมืองทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ไม่เคยนิ่งนอนใจในความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชาวบ้านบริเวณโดยรอบพื้นที่ทำเหมืองฯ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวจะมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ และมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องฯ ซึ่งได้รับความเชื่อถือและเป็นกลางร่วมเป็นคณะกรรมการฯ

ขณะนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ร่างคำสั่งแต่งตั้งมาแล้วและอยู่ระหว่างการทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งผู้นำประชาชนในพื้นที่ทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุน และหลังจากได้ประเด็นปัญหาทั้งข้อร้องเรียนและข้อขัดแย้ง จะนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาอื่นๆ จะถูกนำมาวิเคราะห์วินิจฉัยข้อเท็จจริง พร้อมกำหนดมาตรการในการแก้ไข ซึ่งจะมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข นำเสนอต่อสาธารณชนเป็นระยะๆอย่างเหมาะสม โดยจะจัดทำเป็นมาตรการแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดเสนอมาให้พิจารณา นำเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่าไม่ได้มีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำนับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ชะลอเอาไว้ ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2550 และยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการสำรวจและทำเหมืองทองคำอีกจนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการแก้ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ จะแล้วเสร็จ” นางอรรชกา กล่าว

นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยว่ารัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงฯ ในฐานะที่ต้องติดต่อประสานนักลงทุนและผู้ประกอบการ ต้องดำเนินการต่างๆ ที่เอื้อและอำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจใหม่ง่ายขึ้นและเป็นได้อย่างคล่องตัว (Ease of Doing Business) โดยเฉพาะหน่วยงานออกใบอนุญาตต่างๆ ล่าสุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสอบเพื่อการอนุญาตใหม่ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย และเป็นไปตามแนวทางเดียวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยสามารถออกใบอนุญาตได้ภายใน 15 วันทำการ กล่าวคือ 1. ผู้ยื่นคำขอส่งเอกสารใบรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ ISO9001 และยื่นรายงานผลการทดสอบผลิตภัณฑ์จากห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ ซึ่ง สมอ.ยอมรับ สมอ.จะออกใบอนุญาตภายใน 15 วันทำการ โดยไม่ต้องตรวจโรงงานหรือเก็บตัวอย่างอีก (ระบบ SDOC (Supplier declaration of Conformity)) และผู้ยื่นคำขอที่ได้การรับรองจากหน่วยตรวจสอบรับรองที่ สมอ. ยอมรับ ยื่นใบรับรองดังกล่าว สมอ.จะออกใบอนุญาตให้เลย โดยไม่ต้องตรวจโรงงานหรือเก็บตัวอย่างใช้เวลาในการอนุญาต 15 วันทำการเช่นกัน 2. กรณีผู้นำเข้าขณะนี้ สมอ.ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโรงงานผู้ทำในต่างประเทศ จำนวน 1,795 ราย จะทำให้ผู้นำเข้ารายใหม่ที่นำเข้าผลิตภัณฑ์เดียวกันจากโรงงานเดิมไม่ต้องไปตรวจโรงงานอีก ทั้งนี้ผู้ทำในต่างประเทศจะต้องมาต่ออายุทุก 3 ปี จึงสามารถลดระยะเวลาการรอไปตรวจประเมินโรงงาน อีกทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการสำหรับค่าเดินทางไปต่างประเทศมูลค่าหลายร้อยล้าน/ปี 3. สมอ.จะส่งเสริมให้หน่วยตรวจหรือ IB ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 14 แห่งให้มาช่วยรับงานการตรวจให้ สมอ. 4. หัวข้อที่ตรวจโรงงาน สมอ. ได้ปรับลดจาก 12 ข้อเป็น 15 ข้อ5. สมอ.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เฉพาะแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยลดแบบ ลดขนาด และลดแบบรุ่นในการออกใบอนุญาตทำให้ใบอนุญาตครอบคลุมผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตใหม่ เช่น การออกใบอนุญาตหลอด LED แต่อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงขั้นตอนทั้งหลาย สมอ.ต้องปรับการตรวจติดตามภายหลังใบอนุญาตให้เข้มข้นขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้บริโภคที่ซื้อและใช้สินค้ามาตรฐาน มอก. 6. ส่วนเรื่องการกำหนดมาตรฐาน สมอ. จะพยายามสร้างหน่วยงานเครือข่ายให้ช่วยกำหนดมาตรฐานเพิ่มขึ้นเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคเอกชน 7. สำหรับทางเลือกเดิมคือผู้ยื่นคำขอที่ สมอ.และให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจโรงงานและเก็บตัวอย่างทดสอบใช้เวลาในการดำเนินการ 46 วันทำการ และหากผู้ยื่นคำขอส่งเอกสารการตรวจประเมินโรงงาน และรายงานผลทดสอบที่ได้ดำเนินการไว้ก่อนแล้วในวันที่ยื่นคำขอ จะใช้เวลาดำเนินการอนุญาตเพียง 26 วันทำการ โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะใช้บังคับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จะเหลือเพียงแค่ 15 วันทำการเท่านั้น

ส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในปี 2559 กระทรวงฯ มีแผนเข้าร่วมโครงการบูรณาการการธุรกรรมบริการภาครัฐเพื่อการลงทุน (Investment Gateway) ภายใต้โครงการ Thailand Gateway โดยจะพัฒนาระบบการอนุญาตฯ รง.4 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะช่วยลดสำเนาเอกสาร ลดระยะเวลาในการตรวจสอบ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อราชการ และลดค่าใช้จ่ายเรื่องเอกสารต่างๆ ได้ถึงปีละ 14.4 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยพัฒนาระบบอนุญาตวัตถุอันตรายแบบ Single Form ผ่านระบบ National Single Window รวมทั้งจะนำเสนอโครงการพัฒนาระบบการอนุญาตวัตถุอันตราย ณ จุดเดียว (Hazardous Substance Single Submission : HSSS) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อการพิจารณาอนุญาตที่มีเอกภาพและเป็นแนวทางเดียวกันทั้ง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมธุรกิจพลังงาน และ กรอ. และตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร จะให้บริการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ การประเมินราคาเครื่องจักร จดทะเบียนจำนองหรือขายฝาก ถ่ายทอดจำนองหรือขายฝากเครื่องจักร เป็นต้น

“เท่าที่ได้รับรายงานเกี่ยวกับเรื่องการขอใบอนุญาตต่างๆ ของกระทรวงฯ จากหน่วยงานรับผิดชอบทั้ง กรอ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สมอ.ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา ( มกราคม 58 – กันยายน 58) กรอ.มีสถิติการขออนุญาตตั้งและขยายโรงงานทั้งนอกเขต และในเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวนทั้งสิ้น 4,417 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 812,724 ล้านบาท จ้างแรงงาน 203,161 คน

สำหรับโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว แต่ยังไม่แจ้งเริ่มประกอบกิจการ ทางกระทรวงฯจะให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเข้าไปสำรวจและสอบถามผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต รง.4 ถึงสาเหตุที่ยังไม่แจ้งเริ่มประกอบกิจการเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาและช่วยเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้สามารถเริ่มประกอบกิจการได้โดยเร็ว ทั้งนี้มีโรงงานที่ยังไม่แจ้งเริ่มประกอบกิจการ จำนวน 3,268 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุน 674,022 ล้านบาท และสามารถทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ จำนวน 151,682 คน นอกจากสร้างงานและรายได้ รวมถึงการซื้อวัตถุดิบต่างๆ แล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จากการจับจ่ายใช้สอยดังกล่าวในทุกพื้นที่ที่โรงงานกระจายตัวอยู่อีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่ สมอ.ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาได้ออกใบอนุญาตแสดงเครื่องหมาย มอก.จำนวนทั้งสิ้น 1,232 ราย/ 4,402 ฉบับ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ