รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 14 รอบชิงชนะเลิศว่า ผู้ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนในครั้งนี้ ทั้งที่ผ่านการคัดเลือกและไม่ผ่านการคัดเลือก ถือได้ว่าทุกคนได้ร่วมกันสร้างสังคมของประเทศไทยให้เป็นสังคมฐานความรู้ ซึ่งประเทศเราจะพัฒนาหากทุกคนช่วยกัน เพราะกระบวนการเรียนรู้กระบวนการคิดที่ได้จากกิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่จะสามารถนำไปใช้กับการค้นหาคำตอบ และการหาความรู้ในด้านต่าง ๆ ในอนาคต จึงขอให้ทุกคนเก็บประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป แม้ว่าเราจะไม่ได้รางวัลก็ตาม
สำหรับกิจกรรมการแข่งขันจรวดขวดน้ำที่มีการจัดการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 14 ปี จนถึงวันนี้เราก็ได้เห็นผลผลิตที่ทุกภาคส่วนช่วยกันการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ปลูกฝังเยาวชนเรื่องกระบวนการคิด ทดลอง วิจัย และพัฒนาเป็นตัวอย่างของ Project – based Learning ที่เป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น บางคนได้เข้าไปอยู่ในทีม Formula One ของสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลายคนเข้าไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ บางคนเรียนจบไปเป็น Logistics Engineer Manner ของ SCG Chemical หรือทำงานในตำแหน่ง Production Planning ของบริษัท NSGT เป็นต้น
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า กิจกรรมแข่งขันจรวดขวดน้ำ เป็นกิจกรรมหนึ่งของ อพวช. ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่เน้นกระบวนการคิด การวิเคราะห์ และการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา และลงมือทำเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ โดยนำเรื่องที่กำลังกล่าวถึง คือ STEM มาใช้ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์(S) ได้แก่ แรง โพรเจคไทล์ มุมยิง ฯลฯ เรื่องเทคโนโลยี(T) ได้แก่ การบิน การลอยตัว วิศวกรรม(E) ได้แก่ การประดิษฐ์จรวดขวดน้ำให้มีความเหมาะสมในการแข่งขันแต่ละประเภท คณิตศาสตร์(M) ได้แก่ คำนวณแรงลม ทิศทาง มุมยิงจากแท่นยิง ความไกล เรียกว่าใช้คำว่า STEM มาประยุกต์ใช้ในการแข่งขันจรวดขวดน้ำได้อย่างครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างสรรค์ประดิษฐ์จรวดให้เกิดความสวยงามอาจจะรวมถึงศิลปะ(A) เข้ามาอีกด้วย
ที่ผ่านมา อพวช. ได้กำหนดให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมประจำปี จนถึงปัจจุบันรวมเป็นระยะเวลา 14 ปีแล้ว โดยได้รับความสนใจจากทั้งอาจารย์และนักเรียนอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ยืนยันได้จากจำนวนทีมที่สนใจสมัครเข้าแข่งขัน จาก 267 ทีมในปีแรก กลายเป็น 1,137 ทีมในปีนี้ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ในการประชาสัมพันธ์โครงการและของรางวัลสนับสนุน
และในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ได้ร่วมทำงานในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา โดยมีเยาวชนจากทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบรองชนะเลิศจำนวน 298 ทีม และเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 49 ทีม สำหรับทีมเยาวชนที่ชนะการประกวดประเภทแม่นยำจะได้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกต่อไป
นายประพาฬพงษ์ มากนวล รองผู้อำนวยการกลุ่มด้านสื่อสารองค์กร และกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม กลุ่มทรู กล่าวว่า ทรูวิชั่นส์ ในฐานะสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคมไทย ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนทั้งในด้านการศึกษา และกีฬาอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี โดยร่วมมือกับองค์กรหลาย ๆ องค์กรที่มีความมุ่งหวังในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ในการจัดกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนขึ้น เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์ใหม่ เปิดโลกแห่งการเรียนรู้และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์
สำหรับความร่วมมือกับ อพวช. นั้น กลุ่มบริษัททรู ได้ร่วมจัดโครงการที่เป็นประโยชน์กับเยาวชน อาทิ โครงการค่ายเยาวชนทรู โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย และโดยเฉพาะโครงการการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ที่ทรูวิชั่นส์ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยการประมวลเป็นภาพกิจกรรมการแข่งขัน ออกอากาศผ่านทางทรูวิชั่นส์กว่า 20 ช่องรายการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบว่าเยาวชนไทยของเรามีความสามารถ สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชนที่มีความสนใจต่อไป และขอแสดงความยินดีกับเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ การที่ได้ก้าวเข้ามาสู่รอบชิงชนะเลิศในวันนี้จึงเป็นความสำเร็จที่เกิดจากทักษะความสามารถทางวิทยาศาสตร์และความสามัคคีของทุกคนในทีม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
โดยทีมโรงเรียนที่ชนะเลิศในประเภทความไกลและคะแนนรวม จะได้รับทุนการศึกษาจาก อพวช. ทีมละ 20,000 บาท ประเภทแม่นยำ 10,000 บาท และประเภทการนำเสนอผลงานฯ 5,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีโล่เกียรติยศและของรางวัลอีกมากมายจาก บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด
ข่าวโดย: กองประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด
โทร. 0 2577 9999 ต่อ 2107 โทรสาร 0 2577 9911
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ถ่ายภาพและวีดิโอ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์,นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
ประสานงานได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
ที่มา: http://www.thaigov.go.th