รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ เร่งเดินเครื่อง ‘ฟู๊ดอินโนโพลิส’ เยือนเยอรมัน ตั้งเป้าดึงต่างชาติลงทุน “ฟู๊ดอินโนโพลิส”

ข่าวทั่วไป Monday October 19, 2015 15:44 —สำนักโฆษก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อร่วมหารือกับเอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ และประธานการจัดงานมหกรรมอาหารระดับโลก Anuga 2015 ณ เมืองโคโลญ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ที่รวบรวมผู้พัฒนาและผลิตอาหารชั้นนำจากทั่วโลกราว 6,800 ราย จาก 98 ประเทศ รวมถึงบริษัทไทยกว่า 160 บริษัท ในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งบริษัทในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบของคลัสเตอร์ด้านอาหารที่ใช้ชื่อว่าเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ “ฟู๊ดอินโนโพลิส” (Food Innopolis)

f

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฟู๊ดอินโนโพลิสที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังขับเคลื่อน และวางแผนดึงบริษัทต่างชาติด้านอาหารรายใหญ่เข้ามาลงทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมในประเทศไทย เช่นเดียวกับบริษัทอาหารของไทย ซึ่งเดินทางมาร่วมงาน Anuga 2015 กว่า 160 บริษัท โดยนางนงนุชได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของสถานฑูตฯ ในการจัดผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันมาฝึกอบรมให้คนไทยในหลายสาขา รวมทั้งการพัฒนาระบบอาชีวะที่ทางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมีความเข้มแข็ง และความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเช่น Fraunhofer Institute ที่สนใจจะทำการศึกษาวิจัยนโยบายให้ไทย

ในการนี้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ข้อมูลความคืบหน้าของสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนในช่วงปีที่ผ่านมา อาทิ การนำวิจัยมาขยายผลเชิงพาณิชย์ มาตรฐานสินค้านวัตกรรม ตลาดภาครัฐผ่านบัญชีนวัตกรรม มาตรการจูงใจในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่มากกว่าเดิม เช่น การหักลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมได้ถึง 300% การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ 5 ปี การขยายเวลาให้การส่งเสริมการลงทุนจาก 8 ปี เพิ่มขึ้นอีก 5 ปี นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการสนับสนุนด้านกำลังคนให้ภาคเอกชน เช่น โครงการทาเล้นท์โมบิลิตี้ โครงการเรียนรู้ Work Integrated Learning เป็นต้น ซึ่งนางนงนุช เพ็ชรรัตน์ บอกว่านักวิชาชีพไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและภาคพื้นยุโรปยินดีเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการต่างๆของประเทศในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ โดยนางนงนุชจะไปดำเนินการต่อ และทั้งสองฝ่ายจะประสานในความก้าวหน้าต่ไป

          นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกับนายเจเรล โบเซ่ ประธาน Koelnmesse ผู้จัดงานมหกรรมอาหารระดับโลก Anuga 2015 ณ เมืองโคโลญ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยให้ข้อมูลโครงการฟู๊ดอินโนโพลิสที่รัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์? วางเป้าหมายเชิญชวนนักลงทุน ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนด้านนวัตกรรมในเมืองนวัตกรรมอาหารของไทย ซึ่งนายโบเซ่เห็นด้วยกับโครงการฟู๊ดอินโนโพลิส และพร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรด้านอาหารทั้ง บริษัทอาหารระดับโลกในเครือข่ายของ Anuga รวมถึงสถาบันวิจัย องค์กรการศึกษาด้านอาหารระดับโลก            นายเจเรล โบเซ่ ให้ข้อเสนอแนะว่า ฟู๊ดอินโนโพลิสของไทยควรครอบคลุมถึงเกษตรต้นน้ำด้วย เพื่อให้สามารถยกระดับมาตรฐการเกษตรของไทยที่มีศักยภาพสูงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทาง Koelnmesse ยินดีจะแนะนำโครงการนี้ให้กับ DLG Deutsche Landwirtschafts-Gesellschaft – German Agricultural Society ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแล ให้คำปรึกษา เรื่องมาตรฐานเครื่องจักรเกษตรและอาหารระดับโลก เพื่อมีโอกาสที่จะขยายสาขาให้ศูนย์บริการในภูมิภาคอาเซียน ในส่วนการดึงบริษัทเข้าไปในพื้นที่โครงการฟู๊ดอินโนโพลิส ควรจัดแพ็คเก็จเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์เชิงการสร้างนวัตกรรมของธุรกิจ ให้ครอบคลุมถึงการเข้าตลาดใหม่ๆ การทดสอบตลาดและสินค้าใหม่ๆ รวมถึงการมีให้มีบริการด้านการวิเคราะห์ ทดสอบที่ได้มาตรฐานและมีอย่างเพียงพอ

ประธาน Koelnmesse แนะนำเรื่อง การสร้างความมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการผ่านการจัดมหกรรมสินค้า ว่าประเทศไทยมีงาน ThaiFex ซึ่งเป็นมหกรรมอาหารระดับเอเซียที่มีผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาร่วมงาน โดยนายเจเรล โบเซ่ ได้เสนอให้เพิ่มส่วนของงานจัดแสดงสินค้าที่เป็นนวัตกรรม เปิดตัวโครงการให้มีการแถลงความร่วมมือระหว่างผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทชั้นนำหรือบริษัทที่มีศักยภาพในระดับโลกและบริษัทจากไทยที่จะเข้าร่วม จากนั้นควรมีการนัดร่วมหารือนักลงทุนและผู้ประกอบการที่มีความสนใจ และการจัดกิจกรรมเดินทางเพื่อดูศักยภาพของพื้นที่ ที่จะพัฒนาเป็นเมืองนวัตกรรมอาหาร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนานวัตรรม เช่น เทคโนโลยีการทวนสอบทวนกลับ เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งทีมที่ดูแลการจัดงาน ThaiFex จะรับไปดำเนินการกับทีมบริหารโครงการฟู๊ดอินโนโพลิสต่อไปอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังหารือเกี่ยวกับการพัฒนาผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารมานานแล้ว ทางรัฐบาลนำโดย วท. ได้รับมอบหมายให้พัฒนา Startup ในสาขาธุรกิจไทยที่มีศักยภาพใหม่ๆ ในด้านนวัตกรรมอาหาร นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจซอฟแวร์ที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจหลักที่จะใช้ในโครงการฟู๊ดอินโนโพลิสด้วยเช่นกัน และได้มีการเสนอให้มีการสร้างความตื่นตัวในด้านพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ฐานนวัตกรรม (Innoprenure Startup) โดยการจัดประกวดมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมทั้งในส่วน นวัตกรรมสินค้า บริการและแผนธุรกิจ

ท้ายสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้เยี่ยมชมบูธและหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทประกอบธุรกิจอาหารของไทย กว่า 160 บริษัท อาทิ เช่น Blue Elephant Betergro CPF Singha Thai Union Group ที่ Thailand pavilion ภายในงาน ANUGA2015 เพื่อหารือถึงการขยายผลจากการได้มาออกแสดงสินค้า และยกระดับสินค้าและบริการของผู้ประกอบไทยด้วยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และรับทราบถึงความต้องการ อุปสรรคและนโยบายของบริษัทต่อการพัฒนานวัตรรมด้านอาหารของบริษัทต่างๆ อีกทั้งยังหารือถึงความเป็นไปได้ในการเข้ามาใช้พื้นที่ของโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร เพื่อเป็นแหล่งเชื่อมโยงการสร้างนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้อีกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการต่างดีใจและพร้อมจะเข้าหารือในเชิงรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ในโอกาสต่อไป

เผยแพร่ข่าวโดย : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ