โดยการประชุมครั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมืออาเซียน-จีนและ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ พร้อมร่วมรับรองแผนปฏิบัติการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน (ค.ศ. 2016-2020) และเห็นพ้องกับผู้นำที่เข้าร่วมให้จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในปี 2559
ภายหลังการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีถือโอกาสนี้ต้อนรับนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 18 พร้อมกล่าวว่า อาเซียนและจีนเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ และเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันรอบด้าน โดยไทยจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้น ในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีศักยภาพ และขอร่วมรับรองแผนปฏิบัติการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง พ.ศ. 2559-2563 เพื่อเป็นกรอบส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ไทยได้ส่งมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ให้กับสิงคโปร์ หลังจากทำหน้าที่มาครบ 3 ปี และขอบคุณทุกประเทศที่ให้การสนับสนุนไทย จนภารกิจสำคัญสำเร็จลุล่วงด้วยดี และขอสนับสนุนการทำหน้าที่ของสิงคโปร์ต่อไป
ไทยยินดีที่จีนเป็นมิตรและหุ้นส่วนของอาเซียนมาหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ไทยจึงหวังว่า จีนจะเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และสังคมและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป เพราะอาเซียนที่เข้มแข็งย่อมเป็นผลดีของจีน ไทยเชื่อมั่นว่า จีนจะช่วยส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียน และการพัฒนาโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคโดยรวม ดังนั้น อาเซียนและจีนควรพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของความสมดุลและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทาง ดังนี้
ประการแรก การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค
ที่ผ่านมา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีนเติบโตอย่างมีพลวัต การค้าสองฝ่ายเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่ากว่า 480,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงควรร่วมกันเร่งรัดการเจรจายกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และการจัดทำ “RCEP” ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เราค้าขายกันได้มากขึ้น และมีอุปสรรคน้อยลง
ในด้านการลงทุน ยินดีที่การลงทุนของจีนในอาเซียนขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่ารวมกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อมั่นว่า การลงทุนของจีนในอาเซียนยังจะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เพราะประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและคลังอาหารสำคัญของโลก และเราควรร่วมกันส่งเสริม SMEs ให้เข้มแข็ง เพื่อขยายห่วงโซ่การผลิตและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค
ประการที่สอง การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคในทุกมิติ
นายกรัฐมนตรีชื่นชมจีนที่ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้การค้า การลงทุน และการเดินทางของประชาชน มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และรวดเร็ว ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค รวมทั้งร่วมมือกับประเทศที่สามในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างงานและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ซึ่งอาจมองว่า เป็นแนวทางความร่วมมือในลักษณะ 1+1+1 กล่าวคือ ระหว่าง 2 ประเทศสมาชิกอาเซียนกับ 1 ประเทศนอกภูมิภาค
ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนในการจัดตั้งกองทุนและและสถาบันการเงิน เพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งกองทุนเส้นทางสายไหมทางทะเล และเอไอไอบี จึงเสนอให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยการกำหนดให้เอไอไอบีมีส่วนสำคัญในการช่วยนำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน ฉบับที่ 2 มาปฏิบัติ นอกจากนี้ ควรแสวงหาแนวทางอื่น ๆ เช่น การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน การใช้ประโยชน์จากเงินสกุลหลักในภูมิภาค และพันธบัตรเพื่อการลงทุนด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปีที่แล้ว ประชาชนของเราไปมาหาสู่กันมากถึง 17.6 ล้านคน เมื่อการเชื่อมโยงทางทะเลและข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น มีการพัฒนาท่าเรือและธุรกิจเรือสำราญและมารีนา อาเซียนและจีนน่าจะร่วมกันพัฒนาการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยที่ต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เช่น พันธุ์ปลา ปะการัง ไม่ทิ้งขยะหรือปล่อยน้ำมันและน้ำเสียลงทะเล
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่า การเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจกัน ไทยจึงสนับสนุนให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาอาเซียน-จีน และจะร่วมกันจัดโครงการและกิจกรรมที่จะทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักกันมากขึ้น
สำหรับประเด็นในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากภูมิภาคปราศจากสภาวะแวดล้อมที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ อาเซียนและจีนก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้กล่าวมาทั้งหมดได้ ดังนั้น การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เราต้องร่วมมือกันส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยไม่ปล่อยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง เพื่อที่เราจะได้แข็งแรงด้วยกัน
อาเซียนและจีนต้องร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะช่วยนำไปสู่เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค นอกจากนี้ โครงสร้างสถาปัตยกรรมดังกล่าวจะต้องสามารถรับมือกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ และความท้าทาย ใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยยินดีที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องการขยายบทบาทของสำนักงาน ป.ป.ส. อาเซียน และศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน
ไทยยินดีที่จีนมีบทบาทอันสร้างสรรค์ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาเซียนและจีนจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในภูมิภาคที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน ไม่ว่าจะปัญหาเล็กหรือใหญ่ บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ในเรื่องทะเลจีนใต้ ไทยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และทุกฝ่ายควรมีความยับยั้งชั่งใจ โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่อาเซียนและจีนได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการเจรจา COC จึงหวังว่าการจัดทำ COC จะแล้วเสร็จโดยเร็ว ควบคู่กับการปฏิบัติตาม DOC ในทุกข้อบท และการดำเนินมาตรการเร่งด่วนให้บรรลุผล โดยเฉพาะการจัดตั้งโทรศัพท์สายด่วน และการฝึกซ้อมด้านการค้นหาและกู้ภัย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ ๒๕ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ในปี ๒๕๕๙ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ให้เจริญก้าวหน้า และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง
******************************************
ข้อมูลเพิ่มเติม แผนปฏิบัติการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน (ค.ศ. 2016-2020) เป็นแผนปฏิบัติการฯ เพื่อปฏิบัติตามปฎิญญร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งมีการลงนามเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ที่เมืองบาหลี มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ความสัมพันธ์ฉันทมิตร ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันและความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างอาเซียน-จีน รวมทั้งกำหนดทิศทางการรับมือกับความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลกในระยะเวลา 5 ปี (ค.ศ. 2016-2020)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th