สำหรับสาระสำคัญในการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปไว้ ดังนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ในการเยือนอาเซียนอีกครั้ง ทั้งนี้ ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดียมีความสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และไทยยินดีที่ท่านนายกรัฐมนตรีโมดีให้ความสำคัญต่ออาเซียนผ่านนโยบาย “Act East” โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-อินเดีย ดังนี้
ประการแรก อาเซียนและอินเดียควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนา
โดยควรส่งเสริมภาคเอกชนให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียอย่างเต็มที่ และไทยสนับสนุนการทบทวนความตกลงด้านการค้าสินค้า ซึ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเข้าถึงตลาด เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563
นอกจากนี้ อาเซียนคาดหวังให้อินเดียมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเพื่อสรุปการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เสป (RCEP) ในโอกาสแรก
ในขณะเดียวกัน อาเซียนและอินเดียสามารถร่วมมือกันมากขึ้นในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน การส่งเสริมให้เข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการรับมือกับประเด็นท้าทายต่างๆ
อาเซียนและอินเดียควรขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
การเสริมสร้างความร่วมมือจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และโอกาสในการพัฒนา โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นต่อไป
ทั้งนี้ ไทยมีความสนใจต่อข้อริเริ่มของนายกรัฐมนตรีโมดี ได้แก่ “Make in India” “Digital India” และ “Smart Cities” ไทยเชื่อว่า อาเซียนสามารถเป็นหุ้นส่วนที่จะสนับสนุนเป้าหมายของอินเดียตามนโยบายดังกล่าวได้
ประการที่สอง อาเซียนและอินเดียมีความใกล้ชิดกันมากทั้งทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม จึงควรใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบนี้ โดยการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
อาเซียนและอินเดียควรเร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เร่งรัดการสร้างถนนสามฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดียให้แล้วเสร็จ รวมทั้งสนับสนุนการขยายเส้นทางนี้ไปสู่อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ในขณะเดียวกัน ควรแสวงหาแนวทางร่วมกันในการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรมตามเส้นทางนี้
ในขณะเดียวกัน ต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการชายแดนและการพัฒนาโลจิสติกส์ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกในด้านการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนสองทาง
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถขยายความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงผ่านระเบียงเศรษฐกิจทั้งในอินเดียและอาเซียน รวมทั้งระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย และเรายินดีที่อินเดียแสดงความสนใจต่อโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออาเซียนและอินเดียทางบกและทางทะเล
ประการสุดท้าย ไทยมุ่งหวังที่จะร่วมมือกับอินเดียอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบอาเซียนในประเด็นท้าทายเร่งด่วนต่างๆ ได้แก่ การต่อต้านก่อการร้ายและการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การบริหารจัดการภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอาเซียน-อินเดียสามารถเน้นความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนบุคลากร เทคโนโลยีและการปฏิบัติที่ดีในประเด็นดังกล่าว
***************************************
ที่มา: http://www.thaigov.go.th