ไทยเสนอประเทศบวกสาม เร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงในอาเซียน ยกระดับความร่วมมือทางการเงิน ดูแลเกษตรกร และร่วมรับมือโรคระบาด

ข่าวทั่วไป Saturday November 21, 2015 11:13 —สำนักโฆษก

วันนี้ (21 พ.ย. 2558) เวลา 16.00 น. ณ Conference Hall 1 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้นำชาติอาเซียน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 18 พร้อมกับ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และประธานาธิบดีปัก กึน เฮ โดยมีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือ โดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนให้อาเซียนบวกสามเป็นกลไกความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก

โดยในที่ประชุม มีการรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 1) Joint Statement by ASEAN Plus Three Leaders’ on Promoting Regional Economic Growth and Financial Stability] และ (2) Report on the Follow-Up to the East Asia Vision Group II’s Recommendations

ภายหลังการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีต่อพัฒนาการอันดีในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ การประชุมสุดยอดไตรภาคีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาที่กรุงโซลภายหลังจากสามปี ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวก และเห็นว่า ความสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับความก้าวหน้าของอาเซียนซึ่งจะรวมตัวกัน เป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ ล้วนเป็นพลวัตสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของอาเซียนบวกสามที่จะร่วมสร้างประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความยินดีต่อรายงานเพื่อปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก รุ่นที่ 2 ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานยินดีที่ได้ร่วมงานกับทุกฝ่ายในการจัดทำแผนเรื่องความเชื่อมโยงในภูมิภาค การส่งเสริมธรรมมาภิบาล และนโยบายประชากร

โดยในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางส่งเสริมความร่วมมือ 4 ประการดังนี้

ประการแรก เร่งสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยส่งเสริมการดำเนินการตามเอ็มแพ็ค (แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน /Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) และวาระด้านความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2015

ไทยหวังว่าประเทศบวกสามจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนในการระดมทุนผ่านการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบต่าง ๆ และการพัฒนากฎระเบียบให้ทันสมัย นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน การเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ตลอดจนริเริ่มความร่วมมือใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง และการท่องเที่ยวทางทะเล

โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณข้อริเริ่มของหลายประเทศที่ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งไทยเห็นว่า ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น วงเงินกู้ยืม ความต้องการของแต่ละประเทศ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักการและรูปแบบในการใช้กองทุน เพื่อตรงกับความต้องการของภูมิภาค

ประการที่สอง ดูแลเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น เพราะการเกษตรเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความผันผวนของราคาส่งผลให้ภาคการเกษตรเป็นอาชีพที่ยากลำบาก ไทยจึงขอสนับสนุนการขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น โดยผ่านการเรียนรู้แนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ การพัฒนาและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทันสมัย นอกจากนี้ การส่งเสริมให้รวมกลุ่มสินค้า ตลอดจนการพัฒนาชุมชน MSMEs การบริหารจัดการและการตลาดให้ดีขึ้น และการสร้างความเชื่อมโยงด้านการเกษตรทั้งระบบ จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในภูมิภาคและในตลาดโลก

          นอกจากนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดนอกเหนือความคาดหมาย จึงสนับสนุนให้เพิ่ม                       ความเข้มแข็งให้กับคลังสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสาม และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มการสำรองพืชผลชนิดอื่น ๆ ควบคู่กับการยกระดับโครงการระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงด้านอาหารแห่งภาคพื้นอาเซียนให้เป็นกลไกถาวร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค

ประการที่สาม ส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน เราควรต้องส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้มีการใช้สกุลเงินหลักในภูมิภาคในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจและการระดมทุนสำหรับการพัฒนาความเชื่อมโยง อาเซียนบวกสามควรสนับสนุนให้กลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุนของภูมิภาคอาเซียนบวกสามในการเพิ่มจำนวนการค้ำประกันให้กับตราสารหนี้ในภูมิภาค ซึ่งไทยยินดีต่อความสำเร็จของโครงการนำร่องในการออกตราสารหนี้สกุลเงินบาท ผ่านการประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาค

ไทยสนับสนุนความร่วมมือเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และวิเคราะห์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เพื่อคุ้มครองภูมิภาคนี้จากภัยวิกฤตทางการเงิน โดยควรเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคีและยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวกสาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

ประการที่สี่ ส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภูมิภาค นายกรัฐมนตรียินดีที่เห็นความร่วมมือเรื่องนี้ในกรอบอาเซียนบวกสามมีความเข้มแข็งและดำเนินการได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการไม่ประมาท ไทยสนับสนุนให้เราร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสามในเรื่องการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของอีโบลาและเมอส์โควี

นอกจากนี้ ไทยยินดีให้ความร่วมมือในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพราะนอกจากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว ยังช่วยให้บรรลุเป้าหมายตามวาระด้านสาธารณสุขอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2015 และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี ค.ศ. 2025ที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการในกรอบอาเซียนบวกสาม ซึ่งมีผลการวิจัยและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ไทยจึงยินดีรับเป็นประธานการประชุมเครือข่ายคลังสมองเอเชียตะวันออกในปี 2559 และหวังว่า จะได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศ

*****************************************************

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ