การประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐอเมริกาในทุกมิติ เพื่อให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน ความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค และการรับมือกับประเด็นท้าทายในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยในครั้งนี้ มีการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ โดยผู้นำได้ร่วมกันให้การรับรองแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐฯ ฉบับใหม่ (ค.ศ. 2016-2020)
สำหรับประเทศไทย พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ในที่ประชุม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามาเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 นี้ ซึ่งการเน้นย้ำความสำคัญของอาเซียนต่อสหรัฐฯ
โดยไทยสนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเสาหลักของโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง อาเซียนคาดหวังว่า สหรัฐฯ จะขยายความร่วมมือกับอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้าน เพื่อที่หุ้นส่วนนี้จะเสริมสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือแนวทางในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งต่อไป
การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับการเป็นประชาคมอาเซียนในปีนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่า สหรัฐฯ จะขยายบทบาทในการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมและในระดับที่ไม่น้อยกว่าหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อื่นๆ ของอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียนที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2025 ไทยหวังว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในกรอบความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาคต่อไป
โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญที่จะช่วยขยายความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ดังนี้
ประการแรก อาเซียนและสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพลวัตของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก จึงควรเร่งเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ควรเน้นส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการขนส่งสินค้าข้ามแดน รวมทั้งพัฒนามาตรการร่วมกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรับมือกับวิกฤตและความผันผวนทางเศรษฐกิจ
ไทยพร้อมที่จะหารือเกี่ยวกับแนวทางในการใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่มด้านเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงข้อริเริ่ม Expanded Economic Engagement หรือ E3 ข้อริเริ่มที่ไทยให้ความสนใจโดยเฉพาะ คือ ข้อริเริ่มของสหรัฐฯ ในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้กรอบการหารือด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและกำลังดำเนินหลายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหานี้
นอกจากนี้ สหรัฐฯ สามารถสนับสนุนอาเซียนในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และขนาดย่อย ซึ่งมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ประการที่สอง อาเซียนกับสหรัฐฯ ควรยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาเซียนจะยังคงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อการลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก โดยขยายร่วมมือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้อาเซียนเติบโตไปพร้อมกันโดยคำนึงถึงการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในเวทีโลก รวมทั้ง การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ในการสร้างประชาคมที่เข้มแข็งและประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม
สำหรับประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างการเร่งปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมทางทะเลและการประมง โดยการปฏิรูปและการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างสำนึกของความรับผิดชอบในทุกภาคส่วนของสังคมไทยต่อความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียนในด้านการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสหรัฐฯ ในการรับมือกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัญหาท้าทายเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขร่วมกัน ได้แก่ การก่อการร้ายและลัทธิหัวรุนแรง การลักลอบยาเสพติด และการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจก็เป็นประเด็นท้าทายด้านความมั่นคงในยุคโลกาภิวัตน์ที่ต้องพร้อมรับมือเช่นกัน จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการเผชิญและรับมือกับปัญหาเหล่านี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ประสบการณ์ และเครื่องมือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่อาเซียน
นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในการรับมือกับประเด็นท้าทายระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความมั่นคงทางทะเล
ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในประเด็นท้าทายระดับโลก และเห็นว่าการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าชเรือนกระจกควรดำเนินควบคู่กันไป โดยสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการพลังงานสะอาดเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนินการโดยสำนักงาน USAID ประจำภูมิภาคซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทย
ประการสุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นแก่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศและประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และกล่าวชื่นชมบทบาทที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ และคาดหวังว่า สหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน จะยังคงขยายบทบาทที่สร้างสรรค์ในการริเริ่มและดำเนินงานโครงการด้านการศึกษาและการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน อาทิ โครงการผู้นำเยาวชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประธานาธิบดีโอบามา การเสริมสร้างความเข้าใจอันดีในระดับประชาชนเป็นรากฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
โดยในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้ร่วมรับรอง Joint Statement on the ASEAN-US Strategic Partnership และ Plan of Action to Implement the ASEAN-US (Enhanced/Strategic) Partnership 2016-2020
โดยที่ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐ (Joint Statement on the ASEAN-US Strategic Partnership) เป็นเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือในทุกมิติ โดยครอบคลุมประเด็นความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งประเด็นท้าทายระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ และมีแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วน (ที่เพิ่มพูน/เชิงยุทธศาสตร์) อาเซียน-สหรัฐฯ (ค.ศ. 2016-2020) เป็นกรอบการดำเนินงาน
สำหรับร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วน (ที่เพิ่มพูน/เชิงยุทธศาสตร์) อาเซียน-สหรัฐฯ (ค.ศ. 2016-2020) (Plan of Action to Implement the ASEAN-US (Enhanced/Strategic) Partnership 2016-2020) เป็นเอกสารแผนงานการดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (ที่เพิ่มพูน/เชิงยุทธศาสตร์) เพื่อสันติสุขและความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ โดยครอบคลุมมิติด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี (ค.ศ. 2016-2020) ครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การค้าและการลงทุน การเงิน สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การขนส่ง พลังงาน อาหาร เกษตรกรรมและป่าไม้ ความร่วมมือด้านสังคม-วัฒนธรรม ได้แก่ การจัดการภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข การศึกษาและเยาวชน วัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนบุคลากร สวัสดิการทางสังคม ฯ
****************************************
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th