กยศ. ชวนองค์กรนายจ้างทำ MOU เพื่อชาติ สร้างความรับผิดชอบผู้กู้ยืมชำระหนี้

ข่าวทั่วไป Thursday October 22, 2015 14:43 —สำนักโฆษก

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เชิญชวนองค์กรนายจ้างร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสร้างความรับผิดชอบให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมชำระหนี้คืนในโครงการ “กยศ. กรอ. เพื่อชาติ” พร้อมเสนอมาตรการจูงใจบุคลากรในสังกัดองค์กรนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่บัดนี้ - 30 ก.ย. 2559

ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เปิดเผยว่า “ในขณะนี้ กองทุนได้มีมาตรการกระตุ้นการชำระหนี้ โดยร่วมมือกับองค์กรนายจ้างที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงในโครงการ “กยศ. กรอ. เพื่อชาติ” เพื่อสร้างความรับผิดชอบให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้คืน ซึ่งกองทุนเห็นว่าหน่วยงานองค์กรนายจ้างจะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดี อีกทั้งยังมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือสังคม (CSR) ในการส่งเสริมบุคลากรในหน่วยงานให้มีวินัยทางการเงินและจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม โดยการส่งโอกาสในการศึกษาให้กับรุ่นน้อง โดยผู้กู้ยืมจะได้รับสิทธิตามมาตรการจูงใจ ดังนี้

กรณีผู้กู้ยืมยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือน สำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระ เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้วจะได้เงินคืนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระ หากยินยอมชำระหนี้เป็นปกติ จะได้ลดเบี้ยปรับ 100% หรือหากไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติได้ กองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้กับผู้กู้ยืมพร้อมลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา

กรณีผู้กู้ยืมปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระจะได้เงินคืนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ แต่สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระจะได้ลดเบี้ยปรับ 100%

กองทุนจึงขอเรียนเชิญองค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินให้แก่บุคลากรของท่านที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระเงินคืนกองทุน เพื่อให้เงินงบประมาณแผ่นดินหมุนเวียนกลับกองทุน และส่งต่อโอกาสให้นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายเครือข่ายสัมพันธ์ กยศ. โทร. 02-0164888 ต่อ 350-351” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด

โครงการ “กยศ. กรอ. เพื่อชาติ” ความร่วมมือกับองค์กรนายจ้าง เพื่อสร้างความรับผิดชอบให้พนักงานที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้คืนกองทุน

ปัจจุบัน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีนักเรียน/นักศึกษาที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้วกว่า 4.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 4.7 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ยืมมีหน้าที่ในการชำระเงินคืนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง ทั้งนี้ เงินที่นำมาให้กู้ยืมทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งคือเงินภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศและเป็นเงินที่ผู้กู้ยืมชำระคืนกองทุน ในการนี้ กองทุนจึงได้มีมาตรการกระตุ้นการชำระหนี้โดยร่วมมือกับองค์กรนายจ้างเพื่อสร้างความรับผิดชอบให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้คืนกองทุน เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้ผู้กู้ยืมมีวินัยทางการเงินและมีความรับผิดชอบในการชำระเงินคืน เพื่อให้เงินงบประมาณแผ่นดินหมุนเวียนกลับกองทุน และส่งผ่านโอกาสให้ผู้กู้ยืมรุ่นหลัง อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

กองทุนจึงขอเรียนเชิญองค์กรนายจ้างเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือกับกองทุนในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินให้แก่บุคลากรของท่านที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระเงินคืนกองทุน โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุน โดยบุคลากรจะได้รับสิทธิตามมาตรการจูงใจบุคลากรในสังกัดองค์กรนายจ้างที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุน

ประโยชน์ที่องค์กรนายจ้างจะได้รับ

1. หน่วยงานได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม โดยการส่งเสริมการมีวินัยทางการเงินและความรับผิดชอบต่อเงินกู้ยืมที่มาจากภาษีประชาชนให้แก่บุคลากร

2. หน่วยงานได้มีโอกาสในการตรวจสอบคุณสมบัติของพนักงานในด้านคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต

3. บุคลากรเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง

4. บุคลากรได้รับสิทธิในมาตรการจูงใจ

ขั้นตอนการเข้าร่วม

1. องค์กรนายจ้างติดต่อประสานงานมายังกองทุน เพื่อขอทราบรายละเอียดและขั้นตอนเกี่ยวกับมาตรการจูงใจ

2. องค์กรนายจ้างลงนาม MOU กับกองทุน

3. องค์กรนายจ้างประชาสัมพันธ์เชิญชวนบุคลากรเข้าร่วมโครงการและให้บุคลากรลงนามในหนังสือให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

4. องค์กรนายจ้างนำส่งรายชื่อบุคลากรให้กับกองทุน

5. กองทุนจะตรวจสอบสถานะความเป็นผู้กู้ยืม รายละเอียดยอดหนี้และอัตราการผ่อนชำระรายเดือนนำส่งองค์กรนายจ้าง

6. องค์กรนายจ้างนำข้อมูลที่ได้รับประชุมชี้แจงกับบุคลากรที่เป็นลูกหนี้กองทุนถึงแนวทางในการหักเงินเดือน และลงนามในหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือน

7. กองทุนแจ้งยอดหนี้ของบุคลากรให้หน่วยงานทุกเดือน

8. องค์กรนายจ้างหักเงินเดือนบุคลากรและแจ้งข้อมูลให้กองทุนทราบ

9. กองทุนตรวจสอบรายการชำระเงินและออกรายงานแจ้งให้องค์กรนายจ้างทราบทุกเดือน

ระยะเวลาในการเข้าร่วมเพื่อได้รับสิทธิตามมาตรการจูงใจ : ตั้งแต่บัดนี้ – 30 กันยายน 2559

กยศ.

มาตรการจูงใจบุคลากรในสังกัดองค์กรนายจ้างที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุน

1. กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินยินยอมให้หักเงินเดือน

1.1 กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป

กลุ่มไม่ค้างชำระ เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน

กลุ่มผู้ค้างชำระ

(1) เมื่อผู้กู้ยืมเงินมาชำระหนี้เป็นปกติและให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100%

(2) กรณีไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติได้ กองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้กับผู้กู้ยืม เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา

1.2กลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง

กลุ่มไม่ค้างชำระ เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน

กลุ่มผู้ค้างชำระ เมื่อผู้กู้ยืมเงินมาชำระหนี้เป็นปกติและให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100%

1.3 กลุ่มลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดี

กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน และไม่ค้างชำระหนี้ เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน

กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน และค้างชำระหนี้ เมื่อผู้กู้ยืมเงินมาชำระหนี้เป็นปกติและให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100%

กรณีพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งจำนวน เมื่อผู้กู้ยืมเงินเข้าทำบันทึกข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่าด้วยการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคำพิพากษาชั้นบังคับคดี พ.ศ.2557 และให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน

2. กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินปิดบัญชี

2.1 กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป

กลุ่มไม่ค้างชำระ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี

กลุ่มผู้ค้างชำระ ลดเบี้ยปรับ 100%

2.2 กลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง

กลุ่มไม่ค้างชำระ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี

กลุ่มผู้ค้างชำระ ลดเบี้ยปรับ 100%

2.3 กลุ่มลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดี

กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน และไม่ค้างชำระหนี้ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี

กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน และค้างชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับ 100%

กรณีพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งจำนวน ลดเบี้ยปรับ 100%

กรอ.

มาตรการจูงใจบุคลากรในสังกัดองค์กรนายจ้างที่ให้ความร่วมมือกับกองทุน

(1) กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินยินยอมให้หักเงินเดือน

1.1 กลุ่มไม่ค้างชำระ เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน

1.2 กลุ่มผู้ค้างชำระ

1) กรณีชำระหนี้เป็นปกติ เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100%

2) กรณีไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติ กองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้กับผู้กู้ยืม เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้ กองทุนจะได้รับการลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา

(2) กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินปิดบัญชี

2.1 กลุ่มไม่ค้างชำระ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจำนวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี

2.2 กลุ่มผู้ค้างชำระ ลดเบี้ยปรับ 100%

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ