พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจหลัก คือ การพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัว และชุมชน ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อเป็นกลไกทางสังคมในการขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในการปฏิบัติงาน รวมทั้งผลักดันและประสานความร่วมมือให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและการถ่ายทอดนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ประจำปี ๒๕๕๙ ให้ผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการทั้งระดับส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้ทราบบทบาทภารกิจของกระทรวงฯ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ในทิศทางเดียวกัน จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๙ ครั้งนี้ขึ้นมา
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี ๒๕๕๙ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังคงดำเนินงานโดยยึดกรอบนโยบายด้านสังคมของรัฐบาล ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และกรอบการปฏิรูปประเทศ มาเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากปี ๒๕๕๘ โดยมีการร่วมกันระดมความคิดเห็นในการจัดทำนโยบายจากส่วนราชการของกระทรวงฯ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ มีการปรับปรุงนโยบาย ๓ ด้าน ภายใต้เจตนารมณ์ "ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม พัฒนาสังคมร่วมกันอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย ๑) นโยบายเร่งด่วน ๘ เรื่อง ได้แก่ ๑.๑) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ๑.๒) การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยคนพิการและผู้สูงอายุ ๑.๓) การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ๑.๔) การแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ๑.๕) การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ๑.๖) การเข้าถึงบริการสังคมของคนพิการ ๑.๗) การป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ๑.๘) การเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC ๑๓๐๐) ๒) นโยบายปฏิรูปและพัฒนา ๕ ด้าน ได้แก่ ๒.๑) การพัฒนาบุคลากร ๒.๒) การพัฒนาองค์กร ๒.๓) การพัฒนาระบบและกระบวนการทำงาน ๒.๔) การพัฒนากฎหมายด้านสังคม ๒.๕) การจัดสวัสดิการ และ ๓) นโยบายพันธกิจ ๑๑ เรื่อง ได้แก่ ๓.๑) การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ๓.๒) การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและบริการสังคม ๓.๓) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ๓.๔) การคุ้มครองและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ๓.๕) การพัฒนาสถานภาพสตรีและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ๓.๖) การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ๓.๗) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ๓.๘) การพัฒนาพื้นที่รองรับผู้ประสบปัญหาทางสังคม ๓.๙) การพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่าย ๓.๑๐) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ๓.๑๑) โครงการพิเศษ ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวที่เกิดจากการ "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ” อย่างแท้จริง จะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ปี ๒๕๕๙ นี้ ตนขอให้ส่วนราชการต่างๆ นำนโยบายนี้ไปสู่การปฏิบัติ และขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้ทุกส่วนราชการชี้แจงนโยบายและมอบภารกิจ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ๑. ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน ทั้งส่วนกลาง และในพื้นที่ ๒. จัดทำระบบข้อมูล สถิติ ให้ชัดเจน พร้อมใช้และเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน เชื่อถือได้ ๓. การบริหารงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางไปจังหวัดต้องให้เหมาะสมกับบริบทของจังหวัด และส่งเสริมกิจกรรมที่มีความเหมาะสม มีผลคุ้มค่า ๔. การมอบหมายงานและการพัฒนาบุคลากร ต้องมีการถ่ายทอดนโยบายและแนวทางการทำงานให้กับคนทำงานอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ส่งเสริมองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลิกภาพ และ ๕. การพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการ ของแต่ละหน่วยงานให้พร้อมใช้งานได้ทันที
ที่มา: http://www.thaigov.go.th