รมช.ศึกษาธิการ แถลงข่าวภายหลังการหารือในครั้งนี้ว่า การมาพบปะพูดคุยกับ ทปอ.ในครั้งนี้ ต้องการมาคุยในเรื่องปรัชญาการอุดมศึกษาในสิ่งที่ตนเองคิด และต้องการให้มีการดำเนินการและตรวจสอบเรื่องต่างๆ ร่วมกันใน 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ การประกันคุณภาพภายในของการอุดมศึกษา และธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา
1) การประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นั้น เห็นว่าสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ ควรจะต้องมีการปฏิรูปภายในโดยสิ้นเชิง เพื่อให้เป็นระบบการประกันคุณภาพที่เที่ยงตรง เที่ยงธรรม เพราะไม่ต้องการให้มีการประเมินที่หลอกกัน หรือตัดแปะ เพื่อที่จะทำให้เอกสารการประกันคุณภาพเกิดขึ้นอย่างไม่จริง นอกจากนี้ที่ผ่านมาเราใช้กระดาษมากเหลือเกิน จึงจะพยายามให้ใช้กระดาษให้น้อยลง หรือเลิกเป็นทาสกระดาษ โดยให้มองไปที่ผลลัพธ์จริงๆ ว่าได้มาตรฐานเป็นหลักหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการยกเลิกกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (Thailand Qualifications Framework : TQF) แต่อย่างใด เพียงต้องการให้ สกอ.เป็นที่พึ่ง เพราะมหาวิทยาลัยเป็นเสรีชนทางการศึกษา ส่วนตัวจึงเห็นว่าจะใช้อะไรก็ได้ เพื่อจะได้เกิดการแข่งขันกันด้านมาตรฐานในการประกันคุณภาพ โดยรับปากที่ประชุมว่าจะไปดูเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป
2) ธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่สภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา ซึ่งนับตั้งแต่เข้ามาทำงาน พบว่าแฟ้มที่นำเสนองานการอุดมศึกษากว่าร้อยละ 80 เป็นเรื่องข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เช่น การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การซื้อขายปริญญา การใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ตักตวงผลประโยชน์ไปใช้เพื่อตนเอง การลอกวิทยานิพนธ์ การขโมยผลงานของนักศึกษาหรืออาจารย์ด้วยกัน การนำความคิดของผู้อื่นหรือต่างชาติเพื่อมาใช้รับรองวิทยฐานะของตนเอง การบริหารงานที่ไม่รู้บทบาทตนเอง การบริหารงานที่ทำให้เกิดการทุจริตต่างๆ ฯลฯ จึงจะเข้ามาดูระบบในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง
หากเราดำเนินการใน 2 เรื่องนี้ได้ จะทำให้สถาบันอุดมศึกษามีเวลาเพิ่มขึ้น และมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ประเทศได้ และมีเวลาไปดำเนินการเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่เสียเวลาต้องมาฟ้องร้องหรือร้องเรียนกันไปมา ตามที่พบเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ได้เสียงตอบรับที่ดีจาก ทปอ. ดังนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการให้เห็นผลโดยเร็วต่อไป.
ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงผลการประชุม ทปอ.ในครั้งนี้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับเงินเดือนร้อยละ 4 ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างโดยงบประมาณแผ่นดิน ซึ่ง ทปอ.ได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรีให้ใช้จากเงินรายได้ของแต่ละมหาวิทยาลัยแล้ว โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้นำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจ่ายให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยไปแล้ว แต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยต่างๆ จะประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ ดังนั้น ทปอ.จึงจะจัดทำเอกสารเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ผ่านพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอความอนุเคราะห์งบประมาณกลางจากรัฐบาลต่อไป ส่วนปีงบประมาณ 2560 ทปอ.จะจัดทำร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
- การประเมินคุณภาพระดับหลักสูตรและการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ซึ่ง ทปอ.มีความเห็นสอดคล้องกับรัฐมนตรี เพราะการประกันคุณภาพภายในของ สกอ. ยังไม่ตอบโจทย์สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาต้องการ ทปอ.จึงมีมติให้สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 27 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ ทปอ. ใช้รูปแบบ CUPT QA (The Council of the University Presidents of Thailand Quality Assurance) หรือใช้รูปแบบที่สูงกว่า เช่น EdPEx (Education Criteria for Performance Excellence หรือเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ)
สำหรับใช้ในการประกันคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2558 นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการนำคะแนน GPAX, O-NET, GAT, PAT มาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าหากนำ GPAX มาใช้จะต้องนำคะแนน O-NET มาใช้ด้วยจนกว่าผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จะปรากฏว่าการนำ GPAX มาใช้คู่กับ O-NET ไม่มีประโยชน์ ถึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะเลิกใช้ทั้ง GPAX และ O-NET แต่หากเป็นเช่นนั้น จะทำให้นักเรียนไม่ให้ความสนใจกับการเรียนในห้องเรียน แต่กลับจะมุ่งความสำคัญไปที่การเรียนกวดวิชา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง สำหรับการสอบ GAT, PAT และ 9 วิชาสามัญนั้น มติในที่ประชุมเสนอให้มีการทำเฉลยข้อสอบที่ทำการสอบไปแล้วเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่นักเรียนรุ่นหลังต่อไป
- การสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ประชุมได้หารือประเด็นนี้ อาทิ จะมีการประชุมร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีโครงการแผ่ความรู้ถึงประชาชน ผู้เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยโดยการจัดทำบริการสาธารณชน MoreTV (ม.ทีวี) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานกับ กสทช. เพื่อทำการขออนุมัติเพื่อมหาวิทยาลัยทั้งภูมิภาคและส่วนกลางร่วมมือกันจัดทำรายการทีวีต่อไป
- การขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทปอ.มีมติให้ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทน ทปอ. เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาแล้ว
- โครงการเครือข่ายสะเต็มศึกษาประเทศไทย (STEM Education Network Thailand) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อลงนามความร่วมมือช่วยเหลือด้านอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมมือกับโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เป็นต้น
- การพัฒนามหาวิทยาลัยด้านวิจัยเพื่อก้าวสู่ World Class University ทปอ.เห็นว่ามหาวิทยาลัยไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องทำการกู้เงินจากภาคเอกชนมาสมทบกับงบประมาณของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าว โดย ทปอ. จะจัดทำเอกสารเสนอต่อพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป
ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th