พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า โครงการ “ธัญบุรีโมเดล” เป็นรูปแบบหนึ่งของการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพอย่างครบวงจร สำหรับบุคคลขอทาน คนไร้ที่พึ่ง โดยได้ดำเนินการนำร่องเป็นแห่งแรกในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรีและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จากนั้น ได้ขยายผลไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจำนวน ๑๑ แห่งทั่วประเทศ สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช นับว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินงานตามโครงการธัญบุรีโมเดล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๗๐ คน ทั้งทางจิตใจ สังคม สุขภาพ และอาชีพ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกิจกรรมด้านการเกษตรนิเวศใน การปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยการเสริมพลังให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเองจากการพัฒนาทักษะตามความสนใจเพื่อฝึกอาชีพต่อไป ประกอบด้วย การเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ได้แก่ หมู-ไก่พันธุ์พื้นเมือง และปลา การทำ
ปุ๋ยหมักการปลูกปาล์มน้ำมัน ผลไม้ มะนาว และผักปลอดสารพิษ รวมทั้งการเพาะเห็ด
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) เปิดให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นสถานคุ้มครองฯ แห่งแรกของภาคใต้ ปัจจุบัน มีผู้เข้ารับบริการจำนวนทั้งสิ้น ๔๑๒ คน แบ่งเป็น ชาย ๒๖๖ คน และหญิง ๑๔๖ คน โดยมีภารกิจสำคัญ ดังนี้ ๑) การจัดสวัสดิการสังคมทางภายใน โดยให้บริการด้านปัจจัย ๔ เป็นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค การรักษาพยาบาลทั้งทางด้านร่างกายและสภาพจิตใจ อีกทั้งบริการการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ด้านจิตบำบัด กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด อาชีวบำบัด และการร่วมกิจกรรมกับสังคมภายนอก และ ๒) การจัดสวัสดิการทางภายนอก โดยการทำงานเชิงบูรณาการเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอกในการจัดสวัสดิการสังคมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้ภารกิจของ พส ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔ ระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครอง พ.ศ. ๒๕๔๗ และพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งให้การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายชายและหญิง อายุ ๑๘ ปีขึ้นไป ในพื้นที่ ๑๒ จังหวัดภาคใต้ โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับบริการ ประกอบด้วย๑) คนเร่ร่อน คือ บุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่มีอาชีพ ๒) คนไร้ที่พึ่ง คือ บุคคลที่ประสบปัญหาทางครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ และไม่มีบุคคลให้การช่วยเหลือดูแล และ ๓) คนขอทาน คือ บุคคลที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔
“การลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากตรวจเยี่ยมและติดตามการขยายผลโครงการ “ธัญบุรีโมเดล” แล้ว ตนยังได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ประจำปี ๒๕๕๙ ภายใต้เจตนารมณ์“ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม พัฒนาสังคมร่วมกันอย่างยั่งยืน” โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน เพื่อให้สามารถเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาวต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th