นายณัฐพล รังสิตพล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2558หดตัวร้อยละ 3.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ HDD เครื่องนุ่งห่ม โทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และเบียร์ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตรถยนต์จำนวน 171,496 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.38 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 61,869 คัน ลดลง ร้อยละ 10.51 และ การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 124,952 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.06 โดยการส่งออกรถยนต์นั่งมี จำนวน 45,762 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 31.08 ซึ่งเป็นการเพิ่,ขึ้นในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย ส่วนการส่งออกรถกระบะ 1 ตันและ PPV จำนวน 79,190 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.38 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลาง
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.29 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น HDD MONOLITHIC IC และ SEMICONDUCTOR ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.35 2.71 และ 10.01 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง
ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 13.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 11.61 3.01 และ 78.74 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.58 และ 14.30 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าการบริโภคเหล็กของไทยเดือนกันยายนปี 2558 มีปริมาณ 1.45 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 4.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.55 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 14.06 การส่งออกมีมูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 42.86 สำหรับการนำเข้า 598 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 27.34 เนื่องจากภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่ จึงทำให้กำลังซื้อของภาคเอกชนลดลง และเมื่อพิจารณาการลดลงของการผลิตกับการบริโภคจะเห็นว่าการผลิตลดลงมากกว่า เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีนซึ่งปัจจุบันประสบปัญหา OVER SUPPLY ส่งสินค้ามายังประเทศต่างๆ ของโลก แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้า พบว่ามีทิศทางที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ พบว่าเหล็กทรงแบนมีการบริโภคลดลง ร้อยละ 5.89 โดยเหล็กเคลือบโครเมียม (TIN FREE) ลดลง ร้อยละ 52.08 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (TIN PLATE) ลดลง ร้อยละ 29.62 เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องประสบปัญหา เช่น สับปะรดกระป๋อง ประสบปัญหาภัยแล้งจึงขาดแคลนวัตถุดิบ ในขณะที่ทูน่ากระป๋อง ประสบปัญหาเนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ที่ลดลง สำหรับเหล็กทรงยาว การบริโภคลดลงร้อยละ 2.89 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 6.44 , เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ การบริโภคลดลง ร้อยละ 5.65 เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัว ประกอบกับการแข่งขันกับเหล็กราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้
ในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มการผลิตเส้นใยสิ่งทอผ้าผืนลดลงร้อยละ 4.20 และ 1.64 ตามลำดับ เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายใน ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิตลงตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถผลิตได้ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 12.52 จากคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ส่วนการส่งออกเดือนกันยายน ปี 2558 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอร้อยละ 9.50 จากความต้องการในตลาดคู่ค้าลดลงได้แก่ อินโดนีเซีย จีน อินเดีย และปากีสถาน ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 8.86 ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม และสปป.ลาวและเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 4.12จากคำสั่งซื้อในตลาดสหภาพยุโรป และอาเซียนลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สำหรับอุตสาหกรรมอาหารการผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.3 เนื่องจากสินค้าน้ำตาล ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการผลิตสินค้าหลักอื่นๆ มีทิศทางเพิ่ม เช่น สินค้า ปศุสัตว์ (ไก่และสัตว์ปีก) และผลิตภัณฑ์นม แต่สินค้ากลุ่มประมง และสินค้าผักผลไม้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 10.8 จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP ของสหภาพยุโรป และปัญหาภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ซบเซาขยายตัวไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่น รวมถึงการเติบโตในอัตราที่ลดลงของเศรษฐกิจจีน ส่วนภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ดัชนีอุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะถูกใช้เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจนถึงข้อมูลของเดือนกันยายน 2558 เป็นเดือนสุดท้าย และเมื่อขึ้นปีงบประมาณใหม่ สศอ. จะทำการปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรมให้สะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มใช้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ข้อมูลเดือนตุลาคม 2558 เป็นต้นไป เนื่องจากโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก สศอ. จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมให้สะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันให้มากขึ้น และครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรมให้กว้างขวางและทันสมัยขึ้น ซึ่งการปรับปรุงในครั้งนี้ จะส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมมีความแม่นยำในการชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบัน ดัชนีอุตสาหกรรมจะคำนวณจากดัชนีปีฐาน 2543 ซึ่งประกอบด้วย 53 อุตสาหกรรม และ 216 ผลิตภัณฑ์ แต่เนื่องด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากปีฐานนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปีฐานของดัชนีให้สะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมปัจจุบันมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ในการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง 5 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ข้อสรุปเห็นชอบให้มีการปรับปรุงน้ำหนักและปีฐานของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมโดยอิงข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม ปี 2555 ของสสช. ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด และสามารถสะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีจากนั้นได้มีการตั้งคณะทำงานภายในระหว่าง สศอ. กับ ธปท. เพื่อร่วมกันศึกษาและปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรม โดยดัชนีอุตสาหกรรมซึ่งมีการปรับปีฐานใหม่นี้จะเพิ่มจำนวนอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วย 60 อุตสาหกรรม และ 230 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งการปรับปรุงในครั้งนี้นั้น น่าจะทำให้ผู้ใช้งานมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีความมั่นใจได้ถึงความทันสมัย ครอบคลุม และแม่นยำ อันจะส่งผลถึงการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่แม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนและนโยบายของภาครัฐและเอกชนต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th