นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาแก่ผู้บริหารและสมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย(JFCCT)

ข่าวทั่วไป Wednesday November 25, 2015 10:06 —สำนักโฆษก

วันนี้ (25 พ.ย. 2558) เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาแก่ผู้บริหารและสมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย(Joint Foreign Chamber of Commerce in Thailand: JFCCT) ในหัวข้อ “Our Economy : Building for the Future” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ภายหลังการกล่าวปาฐกถา พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติมาแสดงปาฐกถาพิเศษในวันนี้ และขอขอบคุณสภาหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ที่ได้กรุณาเชิญให้มากล่าวปาฐกถาในวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้กล่าวถึง Roadmap 3 ระยะ รวมถึงกรอบระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน 2559 และจัดการเลือกตั้งทั่วไปและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2560

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการดำเนินการที่สำคัญ ๆ ของรัฐบาลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

ด้านแรก : การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

โดยผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้รายรับจากการท่องเที่ยวลดลง นอกจากนี้การหดตัวของการส่งออกซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินสกุลสำคัญ ๆ ทำให้ประเทศไทยแข่งขันด้านราคาได้ยากขึ้น รวมทั้งการลดลงของราคาสินค้าเกษตรและผลกระทบจากมาตรการรถยนต์คันแรก ได้ส่งผลให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงตามลำดับ ภายใต้สถานการณ์การดังกล่าว รัฐgบาลได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนโดย 4 แนวทางหลัก ได้แก่1) การฟื้นฟูความเชื่อมั่นภาคครัวเรือน นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ 2)การเร่งรัดอัดฉีดเม็ดเงินภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งในด้านงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบรัฐวิสาหกิจ และงบประมาณภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมทั้งการเร่งรัดพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน 3)การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมประกอบด้วย มาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการ SMEs 4)การเร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐทั้งโครงการที่อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณรัฐบาล และโครงการที่อยู่ภายใต้กรอบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ อาทิ โครงการรถไฟฟ้า โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

ด้านที่สอง การแก้ไขปัญหาที่สั่งสมคั่งค้างมายาวนาน

รัฐบาลได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่สะสมคั่งค้างและต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยปรับตัวดีขึ้น สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) นั้น มีความคืบหน้าไปมากและได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรปถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังของประเทศไทย ทั้งในด้านการจดทะเบียนเรือและออกใบอนุญาตทำการประมง การตรวจควบคุมการเฝ้าระวัง การรับแจ้งการเข้า-ออกของเรือ การติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือประมง การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น นอกจากนี้ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการแก้ไขข้อบกพร่องจากการตรวจสอบโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) รัฐบาลก็ได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ด้านที่สาม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

รัฐบาลได้ประกาศมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ SMEs และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนกันยายน- พฤศจิกายน 2558 ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในระยะเร่งด่วน มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ มาตรการเร่งรัดการลงทุนของ BOIและโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวสวนยาง

ด้านที่สี่ การวางรากฐานเพื่อพัฒนาในระยะยาว

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเชื่อมโยงให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งขอเรียนว่ามีความก้าวหน้าที่สำคัญในหลายเรื่อง ได้แก่ การเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า การเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การเร่งรัดการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ และการเร่งรัดการพัฒนาระบบรถไฟ ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาระบบรางเพื่อเชื่อมโยงไทยกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องรูปแบบการลงทุน แหล่งเงินทุน และการบริหารต่าง ๆ

รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในอีก 3 เรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในเรื่องแรกก็คือ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทย(International Trading Centers: ITC) เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคของต่างประเทศในประเทศไทยมากขึ้น และส่งเสริมให้บริษัทไทยไปตั้งสำนักงานในภูมิภาคหรือต่างประเทศนอกภูมิภาคให้มากขึ้นโดยประกอบด้วยมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบใหม่ที่เป็นพิเศษ และการลดปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่ภาษี อีกเรื่องหนึ่งที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและการเชื่อมต่อเป็นห่วงโซ่มูลค่าในอนุภูมิภาคและในกลุ่มอาเซียนได้มาก คือ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน รวมทั้งได้มีการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (OSS) ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับระบบเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแบ่งเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบแรกซุปเปอร์คลัสเตอร์ สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคลัสเตอร์ดิจิทัล และรูปแบบที่สอง คลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ ได้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ด้วย

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลในระยะต่อไปว่า รัฐบาลจะผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตาม Roadmap ใหม่ที่รัฐบาลไว้วางไว้ การแก้ไขปัญหาที่สั่งสมคั่งค้าง และการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อส่งไม้ต่อให้กับรัฐบาลต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศในปี 2560 โดยในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการที่สำคัญสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว นายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพูดคุยกันในวันนี้จะทำให้ทุกคนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางธุรกิจในประเทศไทยและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและเติบโตไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th