ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้พบกับเอกอัครราชทูตฯในวันนี้ โดยนายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตฯต่างยินดีที่ความสัมพันธ์ไทย-สมาพันธรัฐสวิสมีความสำคัญเนื่องจากสมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เคยประทับและทรงศึกษาเมื่อทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสมาพันธรัฐสวิสยังอยู่ในระดับดีมาก โดยใน พ.ศ.2559 จะครบรอบ 85 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศ และประชาชนมีการเดินไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่เอกอัครราชทูตฯได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เคยประจำการที่ประเทศไทยในตำแหน่งรองหัวหน้าสำนักงาน สถานเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1994-1998 พร้อมแสดงความดีใจที่รัฐบาลสวิสได้คัดสรรบุคคลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย
ในเรื่องการเมือง นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองไทยและRoadmapสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืนของไทย โดยขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดการปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืนทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงได้รัฐธรรมนูญที่มีความเข้มแข็งและรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลปราศจากการทุจริตหลังการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณรัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสที่มีความสนใจและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการปรองดอง การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และการปฏิรูปการเมืองในไทย นายกรัฐมนตรีเองก็ได้ศึกษาระบบการเมือง สภา และการเลือกตั้งของสมาพันธรัฐสวิสมาโดยตลอด ซึ่งทางด้านเอกอัครราชทูตฯได้แสดงความพอใจ และมองว่ากระบวนการทางด้านประชาธิปไตยต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น จึงขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในการดำเนินการตาม Roadmap ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และเอกอัครราชทูตฯยินดีให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆแก่รัฐบาลไทยเสมอ
ในเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างไทย-สมาพันธรัฐสวิสมีความร่วมมือระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันสมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ของไทยในยุโรป และไทยสามารถเป็นประตูไปสู่อาเซียนในเรื่องการค้าและการลงทุนของสมาพันธรัฐสวิสได้ นายกรัฐมนตรียังได้ชี้แจงถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของไทย โดยเน้นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและการสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การรวมกลุ่มของการลงทุน (Cluster) ตลอดจนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และหวังว่าสมาพันธรัฐสวิสจะพิจารณาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
ทางด้านเอกอัครราชทูตฯกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทชั้นนำทางธุรกิจของสวิสเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก เนื่องจากไทยนับเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าลงทุน นอกจากนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรีได้ไปกล่าวปาฐกถาแก่ผู้บริหารและสมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย(JFCCT)เมื่อวานนี้ ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนชาวสวิส โดยมีหลายบริษัทที่แสดงความสนใจในการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังหารือกับเอกอัครราชทูตฯถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU และการค้ามนุษย์ในภาคประมง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลกำลังมุ่งแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU และการค้ามนุษย์ในภาคประมงอย่างเต็มที่ โดยได้ประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปการบริหารจัดการภาคประมงให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว รัฐบาลได้เร่งรัดพัฒนาระบบติดตาม ควบคุม การเฝ้าระวังการทำประมง นายกรัฐมนตรีหวังว่าสมาพันธรัฐสวิสซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปจะช่วยไปชี้แจงสหภาพยุโรปให้เข้าใจถึงการดำเนินการของรัฐบาลไทยมากยิ่งขึ้น
ที่มา: http://www.thaigov.go.th