รัฐบาลแจงมูลเหตุการฆ่าตัวตายของชาวบ้าน จ.บึงกาฬ ไม่น่าเกี่ยวข้องกับราคายางตกต่ำ ชี้ราคาคงที่มาระยะหนึ่งแล้ว เร่งเดินหน้ามาตรการเกษตรปศุสัตว์และไร่นาสวนผสมแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Saturday November 28, 2015 15:45 —สำนักโฆษก

วันนี้ (28 พ.ย.58) พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ชาวบ้าน ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ อายุ 60 ปี ผูกคอตายใต้ต้นยางพารา เมื่อวันที่ 25 พ.ย.58 โดยผู้ใกล้ชิดสันนิษฐานว่าสาเหตุของการคิดสั้นน่าจะมาจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำถึง กก.ละ 16 บาท จึงประชดด้วยการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ตายมีบุคลิกชอบสันโดษ ไม่ค่อยพบปะผู้อื่น โดยส่วนมากมักใช้ชีวิตอยู่ในสวนยางที่มีอยู่ 8 ไร่ นาน ๆ ครั้งจึงจะกลับบ้าน และเมื่อสืบสวนจากพยานหลายปากและหลักฐานที่รวบรวมได้ เจ้าหน้าที่คาดว่าสาเหตุน่าจะไม่เกี่ยวข้องกับกรณีราคายางพาราตกต่ำ แต่อาจเกิดจากภาวะซึมเศร้าและความเครียดที่ลูกชายขอเงินไปดาวน์รถยนต์เพื่อประกอบอาชีพค้าขาย

“เมื่อสำรวจราคายางพาราที่ตลาดกลางหาดใหญ่ นครศรีธรรมราช และกระบี่ พบว่าราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 41 บาท ยางข้นดิบ กก.ละ 38 บาท น้ำยางสด ตีแห้ง (หักน้ำออก) กก. ละ 37 บาท และยางกรีดตอนเช้า มีน้ำผสม (น้ำ 65% น้ำยาง 35%) กก.ละ 16 บาท ดังนั้น เรื่องราคายางจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย เนื่องจากราคาเหล่านี้เป็นราคาปกติและคงที่มาระยะหนึ่งแล้ว รวมทั้งราคายาง กก.ละ 16 บาท ที่มีการพูดถึง ไม่ใช่ราคายาง 100% แต่เป็นน้ำยางผสมน้ำ ซึ่งราคาต่ำกว่ายางชนิดอื่นอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแสดงความห่วงใยไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งพี่น้องชาวสวนยาง โดยได้รับทราบปัญหาและพูดคุยปรึกษาหารือกับตัวแทนชาวสวนยางมาโดยตลอด เพื่อให้ความช่วยเหลือทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและวางรากฐานเพื่อความยั่งยืนด้วยมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เช่น การลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมอุตสาหกรรมยางในประเทศ การออก พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย มาตรการอุดหนุนเงินช่วยเหลือที่ไม่ขัดกับหลักการขององค์การค้าโลก การออกระเบียบว่าด้วยการจัดสรรเงินกองทุน ค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง เพื่อใช้เป็นสวัสดิการให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น

พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ระหว่างที่มาตรการดังกล่าว กำลังจะส่งผล นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ กษ. มท. และ พณ. ไปกำหนดมาตรการเกษตรทางเลือก ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับรูปแบบการทำเกษตรเป็น เกษตรปศุสัตว์และไร่นาสวนผสม โดยปลูกพืชชนิดอื่น เสริมด้วยการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย และให้ ทส. นำเกษตรกรชาวสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่าไปส่งเสริมให้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของตนเอง เช่นโค กระบือ แพะ แกะ สัตว์พื้นเมือง ฯลฯ เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการปริมาณเนื้อสัตว์อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหรือพืชชนิดอื่นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหันมาเลี้ยงสัตว์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ท่านยังมี นโยบายให้จัดตั้งธนาคารสัตว์ ส่งเสริมการขยายพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์สัตว์เพื่อแจกจ่ายไปยังเกษตรกรที่มีความต้องการโดยหวังให้ครอบครัวของเกษตรกรที่ยากจนทุกครอบครัวมีรายได้เสริม ทั้งนี้ข้อสั่งการทั้งหมดให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 2 สัปดาห์นี้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ