30 ตุลาคม 2558 ณ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ / สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ ร่วมกับประชาสัมพันธ์องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์แลtเทคโนโลยี โดย สำนักงานส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์
ผศ.จุฬาลักษณ์ พัฒนศักดิ์ภิญโญ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า ศูนย์เครื่องมือฯ ได้ให้บริการทางวิชาการแก่นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัยใน มอ. หน่วยงานราชการภายนอกและภาคเอกชน โดยให้บริการทดสอบตัวอย่าง สอบเทียบ บริการซ่อม สร้างเครื่องมือพร้อมให้บริการอบรมเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนการใช้บริการเครื่องมือด้วยตนเอง เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการทดสอบ การบำรุงรักษาและซ่อม/สร้างเครื่องมือวิจัย และมีเครือข่ายของนักวิชาการทั้งภายในและภายนอกในความร่วมมือทางวิชาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว
ผศ.จุฬาลักษณ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์เครื่องมือฯ มีฝ่ายบริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในด้านต่างๆ เช่น ด้านแรก คือ การบริการวิเคราะห์ยางพารา เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ยางไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางของภูมิภาคอาเซียนโดยทดสอบยางในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานผลิตถุงมือยาง ยางแท่ง ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้านที่สอง คือ การบริการตรวจสอบคุณภาพ Biomass ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ด้วยพลังงานด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้บริการกลุ่มอุตสาหกรรม-ชีวมวลอัดเม็ด โรงงานอินทรีย์วัตถุทั่วไป เช่น กากอ้อย กากข้าวโพด มาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ด้านที่สามการบริการตรวจสอบคุณภาพไบโอดีเซล การควบคุมคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซลจากผู้ผลิตบางราย ด้านที่สี่บริการห้องปฏิบัติการวิเคราะห์โครงสร้างจุลภาค เพื่อวิเคราะห์ทดสอบโครงสร้างของวัสดุในระดับจุลภาค ลักษณะพื้นผิว ตรวจสอบตำหนิต่างๆ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ด้านที่ห้า บริการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลในกลุ่มอุตสาหกรรม-โรงงานผลิตอาหารทะเลแปรรูป อาหารฮาลาล อาหารแช่แข็งต่างๆ ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และการบริการวิเคราะห์น้ำดี น้ำเสียสำหรับให้บริการโรงงานผลิตน้ำดื่มทดสอบคุณภาพน้ำ น้ำเสีย น้ำทิ้งให้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป
ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อดำเนินกิจกรรมวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีบุคลากรวิจัยและกิจกรรมวิจัยพัฒนาของหน่วยงานวิจัยภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา มีพื้นที่ห้องปฏิบัติการและเครื่องมือวิจัยคุณภาพสูง เพื่อให้กิจกรรมวิจัยพัฒนาเกิดการขยายผลในเชิงพาณิชย์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 3 ภาค ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จ.สงขลา) รวมทั้งสิ้น 13 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ภูมิภาค โดยทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกันอย่างเป็นเอกภาพกับนโยบายการพัฒนา วทน. ของประเทศ และมีเครื่องมือหลักคือ?ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Science and Technology Infrastructure Databank หรือ STDB (www.stdb.most.go.th) เป็นที่รวบรวมข้อมูลศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ งานวิจัย นักวิจัย ฯลฯ ไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน และให้บริการสืบค้นข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้สนับสนุนเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำคัญๆ ให้แก่ มอ. คือ ICP-OES เครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์ได้หลายธาตุในเวลาเดียวกัน วัดความเข้มข้นของธาตุได้ในระดับไมโครกรัมต่อลิตร สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างประเภท ปุ๋ย ดิน อาหาร ตะกอน ไม้ ยางพารา น้ำเสีย (ตามมาตรฐานน้ำทิ้งในโรงงานอุตสาหกรรม) น้ำดื่ม (ตามมาตรฐานองค์การอาหารและยา) และเครื่อง FT-IR ใช้สำหรับบันทึก IR spectrum ใช้ในการหาหมู่ฟังก์ชันองค์ประกอบของสารเคมี เช่น สารสังเคราะห์ สารสกัดจากสกัดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (พืช สมุนไพร สัตว์) ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ พลาสติก พอลิเมอร์ เป็นต้น ซึ่งมีเทคนิคในการวิเคราะห์ คือ KBr Pellet, Neat, ATR, Diffuse และ Photoacoustic โดยการเลือกเทคนิคในการวิเคราะห์นั้นขึ้นกับคุณสมบัติของสาร เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือ Lab ที่ วท.สนับสนุนจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่องานทดสอบบริการที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย สามารถสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ ชิ้นงาน อุปกรณ์ ทัดเทียมสากลต่อไป
ประสานงานได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th