ก.แรงงาน Kick Off นโยบายเร่งรัดระดมตรวจความปลอดภัยในการทำงาน ตั้งเป้า ๙๐ วัน สถานประกอบกิจการ ๓,๙๐๐ แห่ง ลดอันตราย

ข่าวทั่วไป Monday November 2, 2015 14:35 —สำนักโฆษก

กระทรวงแรงงาน ปล่อยขบวนตรวจของพนักงานตรวจความปลอดภัย เร่งตรวจ ออกคำสั่งและดำเนินคดี นายจ้าง สถานประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด พร้อมระดมกำลังตรวจอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เน้นตรวจกิจการก่อสร้าง และกิจการที่เสี่ยงต่อเหตุเพลิงไหม้ ตั้งเป้า ๙๐ วัน สถานประกอบกิจการอย่างน้อย ๓,๙๐๐ แห่ง ต้องปลอดภัย

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” เป็นภารกิจที่กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้กำหนดนโยบายให้มีการรณรงค์เร่งรัดระดมการตรวจความปลอดภัยในการทำงานให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความปลอดภัยในการทำงานนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน ของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานนอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนายจ้างและลูกจ้างแล้ว ยังเกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของสถานประกอบกิจการ และส่งผลถึงภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ข้อมูลจากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม พบว่า จากผลความพยายามดำเนินงานที่ต่อเนื่องของกระทรวงแรงงาน ส่งผลให้สถิติของการเกิดอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงานลดลงอย่างชัดเจน คือ อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานรวมทุกกรณี ต่อลูกจ้าง ๑,๐๐๐ คน จากอัตรา ๒๙.๙๕ ลดลงเป็น ๑๒.๕๗ ในปี ๒๕๕๖ และ ๑๐.๙๙ ในปี ๒๕๕๗ ทั้งนี้ ด้วยนโยบายที่เข้มแข็งของกระทรวงแรงงาน และความมุ่งมั่นจริงจังของเจ้าหน้าที่จะสามารถทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวลดลงจนเป็นศูนย์ได้ในที่สุด และในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรม “๙๐ วัน ยุทธการลดอันตราย” ขึ้น เพื่อเป็นการ Kick Off นโยบายเร่งรัดระดมตรวจความปลอดภัยในการทำงานรองรับนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้นายจ้างลูกจ้างได้คำนึงถึง ความปลอดภัยในการทำงานและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นกับนายจ้างและลูกจ้างไปพร้อมกัน โดยมีกำหนดระยะเวลา ๙๐ วัน ที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเคร่งครัด และดำเนินคดีกับสถานประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้ กำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวเกิดผลสัมฤทธิ์ นั้นคือ พนักงานตรวจความปลอดภัย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังและเอาจริงกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อให้ลูกจ้าง นายจ้างมีความปลอดภัยในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ ทำให้ลดอัตราการประสบอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงาน

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรม ๙๐ วัน ยุทธการลดอันตราย โดยการ Kick Off ในวันนี้เป็นการปล่อยขบวนตรวจของพนักงานตรวจความปลอดภัยในส่วนกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย พนักงานตรวจความปลอดภัยจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑ – ๑๐, ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจความปลอดภัยของสำนักความปลอดภัยแรงงาน ๗ ชุด และศูนย์ความปลอดภัยแรงงานเขต ๑๑ และ ๑๒ รวม ๔๘ คน นอกจากนี้ กสร.ยังได้ระดมตรวจความปลอดภัย ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายการตรวจสถานประกอบกิจการอย่างน้อย ๓,๙๐๐ แห่ง ต้องซึ่งมุ่งเน้นสถานประกอบกิจการประเภทกิจการก่อสร้าง ประเภทกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากอัคคีภัยและสถานประกอบกิจการที่ยังมิได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในช่วงระยะเวลา ๙๐วัน (๓ เดือน) คือตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ – ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙ หากพบว่านายจ้าง สถานประกอบกิจการใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ดำเนินการ ออกคำสั่งหรือดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด และจะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานก่อน ๑๒.๐๐ น. ของทุกวันศุกร์เพื่อกสร. จะได้นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป

นอกจากนี้ กสร. ยังได้กำชับให้ทุกหน่วยปฏิบัติเคร่งครัดการบังคับใช้ มาตรา ๓๔ แห่ง พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างแจ้งอุบัติเหตุกรณีลูกจ้างเสียชีวิต และกรณีสถานประกอบกิจการได้รับความเสียหายหรือต้องหยุดการผลิต หรือมีการประสบอันตราย ได้รับความเสียหายเนื่องจากเพลิงไหม้ การระเบิด สารเคมีรั่วไหล หรืออุบัติภัยร้ายแรงอื่นๆ ต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยอีกด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ