ม.ล.ปริยดา ดิศกุล กล่าวว่า ขอชื่นชมหน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้การสนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ให้พัฒนาและก้าวไปข้างหน้า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประสบความสำเร็จอย่างมากและได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก โดยภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกมาฉายในปีนี้ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ปีสากลแห่งแสง และเทคโนโลยี” ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน อาทิ ด้านการศึกษา การแพทย์ ธุรกิจ การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การพาณิชย์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีต่างๆ นั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยขอให้เราพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องเหมาะสมและไม่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือในการสร้างความตระหนัก และการเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผอ.สสวท. กล่าวว่า เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ประเทศไทย (Goethe-Institut Thailand) รวมทั้งหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นต้น และจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทำให้เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ได้รับการตอบรับที่ดีและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกปี
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านความบันเทิงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไป และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความคุ้นเคยในการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อีกด้วย
สำหรับการจัดงานในปีนี้ แก่นของงานคือการเน้นให้เห็นความสำคัญของแสง “ปีสากลแห่งแสง และเทคโนโลยี” ที่เข้ามามีบทบาทและกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน โดยจัดงานระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2558 ซึ่งจะมีการฉายภาพยนตร์ พร้อมกับการจัดนิทรรศการและกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 18 แห่งทั่วประเทศ
ภาพ : ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th