พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน มีภารกิจหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงาน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศ จึงขอให้ได้ตระหนักและภาคภูมิใจในหน้าที่ที่สำคัญนี้ ทุ่มเทเสียสละ และทำงานเชิงรุก เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงด้านแรงงานทำให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
เรื่องของนโยบายจะมีอยู่ ๒ นโยบายหลัก คือ นโยบายทั่วไป และนโยบายเฉพาะ ซึ่งนโยบายทั่วไป ขอให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญในกิจกกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ความใส่ใจในการวางแผนอำนวยการ ติดตามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และในการจัดทำหลักสูตรต้องสอดแทรกความรู้ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกในการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และปฏิบัติราชการยึดนโยบายรัฐบาล มติ ครม. แนวทางของ คสช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีการเตรียมการ วางแผน คาดการสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า และกำหนดผู้รับผิดชอบตัวชี้วัดให้ชัดเจน เร่งพัฒนาบังคับใช้กฎหมายให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพ สร้างจิตสำนึกในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในงานของกระทรวงแรงงาน และบูรณาการร่วมกันทั้งในส่วนของกระทรวงและภาคส่วนต่างๆ สำหรับนโยบายเฉพาะ ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ รู้ถึงความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการสถานประกอบการในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดปัญหาการว่างงานและการอพยพเข้ามาทำงาน อีกทั้งต้องทำมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากล รองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพิ่มศักยภาพแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมขยายช่องทางการให้บริการศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job center) ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และในอนาคตต้องเพิ่มการแนะนำอาชีพเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดเป็น Smart Worker Center ส่วนการส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศต้องส่งเสริม พัฒนา คุ้มครองแรงงานอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานต้องทำตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด พัฒนาระบบประกันสังคมให้ครอบคุลมถึงแรงงานนอกระบบ เสริมสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายเพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงสิทธิประกันสังคมอย่างทั่วถึง
เรื่องของแรงงานต่างด้าว การดำเนินการจะต้องเข้าสู่ระบบและเป็นมาตรฐานสากล และในอนาคตต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดความต้องการแรงงานต่างด้าวเป็นรายปีของผู้ประกอบการ และเป็นช่วง ๒–๔ ปี พร้อมนำเสนอประเทศต้นทางถึงจำนวนความต้องการแรงงานต่างด้าว เพื่อการดูแลแรงงานต่างด้าวให้ได้รับสวัสดิการที่ดีในช่วงเวลาที่ทำงานในประเทศไทย ตลอดจนการอำนวยความสะดวกเมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา สำหรับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และปัญหาการค้ามนุษย์รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานที่จัดตั้งขึ้นต้องทำงานเชิงรุกให้เกิดผลงานเป็นรูปประธรรมเป็นที่ประจักษ์และจับต้องได้ ในส่วนของการตรวจแรงงานต้องบูรณาการชุดตรวจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลร่วมกัน รวมถึงเพิ่มช่องทางให้กับผู้รับบริการทุกประเภท โดยปรับปรุงพัฒนาระบบสารสนเทศและระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการให้บริการรับ–จ่ายเงินผ่านระบบ e-service และเร่งจัด Application (แอพพลิเคชั่น) เพื่อให้บริการแก่ลูกจ้าง นายจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนทั่วไป
การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการภายในกรอบของทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงให้ความสำคัญในประเทศ CLMV กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก และทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศด้านแรงงาน เพื่อพัฒนานโยบายความร่วมมือให้บรรลุผลสำเร็จ และยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเร่งรัดจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในพื้นที่ พร้อมกำหนดรูปแบบการใช้แรงงานต่างด้าวทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับและตามฤดูกาล และขยายสาขาประกันสังคมใน ๓ พื้นที่ ตาก สระแก้ว สงขลา สำหรับศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ข้อมูลต้องมีความละเอียดของแต่ละภาค กลุ่มละพื้นที่ เชื่อมโยงข้อมูลในเชิงลึก ทั้งความต้องการตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน การปิดงาน และเชื่อมโยงกับข้อมูลกับสำนักงานประกันสังคม
สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ ต้องเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ และมีข้อมูลตลาดแรงงานในอาเซียน พร้อมเร่งรัดการฝึกและพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับภาคอุตสาหกรรม เพิ่มทักษะความรู้ของแรงงานไทยด้านภาษา ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตนและยกระดับการบริการประกันสังคมสู่ระดับสากล
ที่มา: http://www.thaigov.go.th