ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวมอบนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แก่หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ว่า พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีข้อสั่งการให้เร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตามนโยบายรัฐบาลซึ่งได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ อันสืบเนื่องมาจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดลำดับไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่มีการค้ามนุษย์ระดับเทียร์ 3 และสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลือง กรณีการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) รวมถึงกรณีกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กล่าวหาว่าสินค้าของไทย 5 รายการ คือ ปลา-ผลิตจากแรงงานภาคบังคับ กุ้ง, เครื่องนุ่งห่ม-ผลิตจากแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ อ้อย, สื่อลามก-ผลิตจากแรงงานเด็ก เหล่านี้ส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาผู้บริโภคสินค้าประเทศไทย ก่อให้เกิดความเสียหายด้านชื่อเสียงของภาคธุรกิจส่งออกโดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจถูกนานาประเทศลงโทษด้วยมาตรการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าไทย เพราะมาจากแรงงานบังคับและเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ประเทศจะได้รับความเสียหายมาก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้ามีจำนวนสูงมาก
ที่ผ่านประเทศไทยได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายมาตรการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวซึ่งเป็นปัญหาสะสมมายาวนานได้ อาทิ การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนกว่า 1.6 ล้านคน เพื่อเป็นจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ได้รับความคุ้มครองอย่างถูกกฎหมาย การนำเข้าแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐ การจัดการสายนายหน้าเถื่อน การปรับแก้กฎหมายโดยการออกกฎกระทรวงแรงงานขยายอายุการใช้แรงงานในกิจการประมง จาก 16 ปี ปรับเป็น 18 ปีขึ้นไป และในภาคการเกษตรจากอายุ 13 ปี ปรับเป็น 15 ปีขึ้นไป ตรวจการใช้แรงงานและดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) กับสมาคมชาวไร่อ้อย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในโรงงานและในไร่อ้อย เป็นต้น
มาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือ กำหนดให้ทุกหน่วยในสังกัดกระทรวงแรงงานต้อง ตรวจแรงงานแบบบูรณาการ ทำงานร่วมกันเพื่อขยายผลได้ครอบคลุมทั่วทุกพื้น กวดขันการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ให้สแกนทุกพื้นที่หากเกิดปัญหาพื้นที่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะการตรวจการใช้แรงงานในภาคการประมงทะเล จะต้องร่วมกันทำงานแบบบูรณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่า กรมประมง ทหารเรือ ตำรวจ ซึ่งจะได้มีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่อง นิยามแรงงานขัดหนี้ แก่พนักงานตรวจแรงงานภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการจึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อปลายเดือนที่แล้ว เพื่อติดตามผลและมีระบบการรายงานการดำเนินอย่างเป็นเอกภาพ พร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และวางแผนแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด (ยุทธศาสตร์จังหวัด) ดังนั้นในระดับจังหวัดจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยมีแรงงานจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบการบรูณาการ ภายใต้แผนปฏิบัติการที่กระทรวงได้กำหนด และให้ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
พร้อมนี้ กระทรวงแรงงานกำหนดเปิด “สถานีแรงงาน” เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารด้านแรงงาน เป็นรายการสดออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11 NBT) ทุกวันอังคาร เวลา 13.05 - 13.55 น. ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป
“สถานีแรงงาน” จะช่วยให้ประชาชนทุกคน มีความเท่าเทียมกันทางโอกาสในการเข้าถึงบริการของกระทรวงแรงงานได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และประหยัด เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ผู้บริหารของกระทรวงได้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ได้รับรู้และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน อันจะนำไปสู่การพัฒนางานการช่วยเหลือและบริการของกระทรวงให้มีความก้าวหน้าทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th