นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday December 4, 2015 10:26 —สำนักโฆษก

วันนี้ (4 ธ.ค. 2558) เวลา 9.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ครั้งที่ 1/2558 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้

คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ หรือ พกค. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน ร่วมด้วยคณะกรรมการจากรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 9 กระทรวง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นกรรมการและเลขานุการ

ในโอกาสนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศครั้งแรกในวันนี้ เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าระหว่างประเทศทั้งระบบ ให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศในครั้งนี้ได้มีการพิจารณายุทธศาสตร์ในการผลักดันการส่งออกปี 2559 ซึ่งมี 7 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ (1)การเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP, RCEP รวมถึงการขยายประโยชน์ FTA ที่มีอยู่ และการพิจารณาเปิดเจรจาจัดทา FTA ใหม่ (2)การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต หรือกำหนดสินค้า/บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึก ลงถึงในระดับเมือง มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ เจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ และช่องทางการค้าออนไลน์ (3)การส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน (4)การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจและลงทุนในต่างประเทศ (5)การปรับโครงสร้างการค้าสู่การค้าบริการ เพื่อเป็นจักรกลใหม่ในการขับเคลื่อนการค้า โดยมีธุรกิจบริการที่ให้ความสำคัญ 6 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิงและคอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการต้อนรับ และธุรกิจบริการวิชาชีพ (6)การเพิ่มบทบาทของ SMEs ในการผลักดันการค้า และสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และ(7)การสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก เพื่อยกระดับ ผู้ประกอบการส่งออกจากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต สู่ผู้ประกอบการที่มีการออกแบบ หรือผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตนเอง

นายกรัฐมนตรีและที่ประชุม ยังได้มีการหารือในประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของคลัสเตอร์อัญมณีและเครื่องประดับ คลัสเตอร์ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ และคลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หากปัญหาอุปสรรคได้รับการแก้ไข จะสามารถผลักดันให้เกิดรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ ในปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นลำดับที่ 4 สร้างรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าอุตสาหกรรมอัญมณีของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในระดับนานาชาติ แต่ยังเสียเปรียบคู่แข่งเพราะมีต้นทุนที่สูงกว่า โดยผู้ประกอบการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบ อากรนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ อีกทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างฝีมือ การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพิจารณายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต ภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากร จะทำให้ในปี 2563 ไทยจะส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และยกระดับเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกต่อไป

ในส่วนของคลัสเตอร์ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนคนไข้ ประเทศที่มาเยือน และรายได้ ทำให้ปัจจุบันมีรายได้จากการรักษาพยาบาลคนไข้ชาวต่างชาติในโรงพยาบาลเอกชนไม่ต่ำกว่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มเป้าหมายที่ควรมุ่งเน้น คือ ผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางมารักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการทั้งหมด ส่วนปัญหาอุปสรรคหลักของธุรกิจนี้ คือ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และบุคลากรที่ช่วยดูแลผู้ป่วยจากต่างประเทศที่ใช้ภาษาต่างประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นควรให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น อาทิ การออกใบอนุญาตทำงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และใบอนุญาตชั่วคราวให้แก่แพทย์จากต่างประเทศ เพื่อมาเสริมบุคลากรที่ขาดแคลนเป็นการชั่วคราว ส่วนการแก้ไขในระยะยาวจะกำหนดแผนการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มีสัดส่วน 9 – 10 คนต่อประชากร 10,000 คน หรือต้องผลิตแพทย์ให้ได้ประมาณปีละ 7,500 คน

ในส่วนของคลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้หารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ได้เสนอให้มีการพิจารณาการตีความประเภทยานยนต์เพื่อประเมินพิกัดภาษีศุลกากรขาเข้าที่ชัดเจน และในส่วนของปัญหาเกี่ยวกับสหภาพแรงงานได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนร่วมกันจัดทำแผนการผลิตบุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมในระยะยาว

ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เทียบกับปี 2558 โดยได้มีการพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ความต้องการของตลาดคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนได้มีการหารือกับผู้ส่งออกไทย เพื่อประกอบการพิจารณาเป้าหมายดังกล่าว

…………………………………….

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ