พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี ถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของกระทรวงมหาดไทย ประจำปี พ.ศ.2558 ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ข่าวทั่วไป Friday November 6, 2015 15:43 —สำนักโฆษก

วันนี้ (6 พ.ย. 2558) เวลา 14.00 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของกระทรวงมหาดไทย ประจำปี พ.ศ.2558 โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนบริษัท ห้างร้าน และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา เข้าร่วมในพิธีฯ ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของพุทธศาสนิกชนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในปีพุทธศักราช 2558 กระทรวงมหาดไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยในวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2558 เวลา 14.00 น. จะมีพิธีถวายเครื่องบริวารพระกฐินพระราชทาน ได้แก่ บาตร เครื่องอัฐบริขาร ตาลปัตรฯ และเครื่องไทยธรรม แด่พระสงฆ์รูปที่ครองผ้า และถวายเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลแด่เจ้าอาวาส เพื่อถวายพระภิกษุ สามเณร และบำรุงพระอาราม พร้อมทั้งมอบเงินให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนทวีธาภิเศก เพื่อเป็นทุนบำรุงการศึกษาแก่นักเรียน

สำหรับประวัติของ “วัดเครือวัลย์วรวิหาร” วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด หากแต่มีข้อความกล่าวถึงในหนังสือ “ตำนานพระอารามหลวงและทำเนียบสมณศักดิ์” ซึ่งเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “วัดเครือวัลย์วรวิหาร อยู่ในคลองมอญฝั่งใต้ เจ้าพระยาอภัยภูธร สร้างในรัชกาลที่ 3 แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดเครือวัลย์วรวิหาร” และข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า “ในคลองมอญวัด 1 เจ้าจอมเครือวัลย์บุตรีเจ้าพระยาอภัยภูธร สร้างใหม่การยังไม่แล้ว ก็ถึงแก่กรรมเสีย จึงโปรดให้ทำต่อไปวัดนั้น แล้วพระราชทานชื่อ วัดเครือวัลย์วรวิหาร” ปัจจุบันวัดเครือวัลย์วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และมีศาสนสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถ โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เนื่องจากผนังภายในพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน มีภาพเขียนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นภาพนิทานชาดกเรื่องพระเจ้า 500 ชาติ ที่งดงามมากและรวบรวมเรื่องราวไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทย นับว่าเป็นแหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมด้านจิตรกรรมฝาผนัง อันเป็นสมบัติที่สำคัญของชาติควรค่าอนุรักษ์ไว้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ