นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ในชั้นปีที่ 4-6 หรือชั้นคลินิก โดยรับนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปี 2554 ขณะนี้รับมาเรียนแล้ว 5 รุ่น รุ่นละ 24 คน ต่อมาโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างตึก 9 ชั้น เป็นที่จัดการเรียนการสอน และที่พักนักศึกษาแพทย์ โดยใช้เงินก่อสร้างทั้งสิ้น 122.45 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2555 โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามอาคารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 59 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธยย่อ “ส.ธ.” ประดับไว้ที่ป้ายชื่ออาคารด้วย
สำหรับอาคารบ้านคุณพุ่มเพื่อการรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นอาคารที่สร้างขึ้นตามพระประสงค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึง “คุณพุ่ม เจนเซ่น” พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งได้เสียชีวิตจากเหตุธรณีพิบัติภัย ที่จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 6 ชั้น พร้อมชั้นใต้ดิน 1 ชั้น พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 16,680 ตารางเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงิน 326.59 ล้านบาท โดยในวันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารบ้านคุณพุ่ม การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2556 และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้เปิดดำเนินการในปลายปี พ.ศ.2556 โดยมีการจัดให้บริการด้านจิตเวชเด็ก กุมารเวชกรรม เวชกรรมฟื้นฟู และ ทันตกรรมเด็ก ให้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 534 เตียง ดูแลประชาชนภายในจังหวัดภูเก็ตจังหวัดใกล้เคียงและนักท่องเที่ยว ปีละกว่า 700,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ที่ผ่านมามีประชาชนมารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) จำนวนกว่า 460,000 ราย โรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคเอ็นซีดี หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และผู้ป่วยใน (IPD) 32,000 ราย จากการที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตยังเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเครื่องรักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคที่เกิดจากการดำน้ำหรือโรคน้ำหนีบ เครื่องนี้ยังสามารถรักษาแผลเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวานและแผลที่เกิดจากรังสีรักษาซึ่งได้ผลดีอีกด้วย
*********************************** 9 พฤศจิกายน 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th