บ่ายวันนี้ (9 พฤศจิกายน 2558) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การปฏิรูประบบสุขภาพ “Updated Health Care Reform” ในที่ประชุมวิชาการพยาบาลแห่งชาติครั้งที่ 15 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี ผู้บริหารพยาบาล อาจารย์พยาบาล พยาบาลวิชาชีพและนิสิตนักศึกษาพยาบาลจากทั่วประเทศ ประมาณ 1,500 คน เข้าร่วมการประชุม
นายแพทย์โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักดูแลสุขภาพของประชาชนร่วมกับภาครัฐอื่นและเอกชน มีสัดส่วนร้อยละ 80 ของบริการสุขภาพทั้งหมด ได้ปฏิรูประบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี ได้รับบริการจากบุคลากรที่มีมาตรฐานวิชาชีพและมีคุณธรรม ปัจจุบันคนไทยมีระบบประกันสุขภาพครอบคลุม เป็นสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติร้อยละ 73.31 ประกันสังคมร้อยละ 16.9 ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจร้อยละ 7.39 หน่วยงานส่วนท้องถิ่นร้อยละ 0.88 ที่เหลือเป็นผู้ที่ยังไม่ลงทะเบียนสิทธิ ส่งผลให้ผู้ป่วยในสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 48 ล้านกว่าคนเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอกร้อยละ91.21 และผู้ป่วยในร้อยละ 78.87 โดยประชาชนพึงพอใจในบริการมากถึงร้อยละ 94.54 ส่วนผู้ให้บริการพึงพอใจร้อยละ 64.42
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์ในอีก 20 ปีข้างหน้าที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับบุคคล มากกว่าการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพ และบรรลุเป้าหมายสุขภาพระดับโลก ที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษทั้ง 8 ข้อสิ้นสุดลง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่กันยายน 2558 ถึงสิงหาคม 2573 ตั้งเป้าบรรลุ 17 เป้าหมาย อาทิ หยุดยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคติดต่อในกลุ่มประเทศเขตร้อน ลดการตายก่อนวัยอันควรที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกประเทศ เป็นต้น ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าดำเนินการใน 5 เรื่องคือ 1.ความเป็นเอกภาพของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการ 2.การเงินการคลังด้านสุขภาพระยะยาวของระบบ ให้มีความยั่งยืน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพ และการหาแหล่งเงินที่เหมาะสม 3.การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดการเจ็บป่วย 4.จัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ 5.การใช้ภูมิปัญญาไทย การแพทย์แผนไทยในการพัฒนาสุขภาพ
ทั้งนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอ 3 วาระปฏิรูป คือ ระบบบริการสาธารณสุข ระบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และระบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ อาทิ การปฏิรูปให้ระดับปฐมภูมิพื้นที่เป็นฐานระบบสุขภาพอำเภอ ระบบการสนับสนุนตามกรอบระบบสุขภาพซึ่งมีองค์ประกอบที่พึงประสงค์หลัก 6 ส่วนขององค์การอนามัยโลก กลไกสร้างความเข้มแข็งทุกระดับ กระจายให้ชุมชนท้องถิ่น การมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสุขภาพท้องถิ่น การแยกบทบาทผู้กำหนดนโยบาย-ผู้จัดบริการ-ผู้ซื้อ-ผู้สนับสนุน การผลิตและพัฒนาคน ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ เคลียร์ริ่งเฮ้าส์
********************************* 9 พฤศจิกายน 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th