ก.แรงงาน ร่วมประชุมคณะประศาสน์การ (GB) สมัยที่ 325 ของ ILO ณ สมาพันธรัฐสวิส

ข่าวทั่วไป Tuesday November 10, 2015 14:47 —สำนักโฆษก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation-ILO) จัดการประชุมคณะประศาสน์การ (Governing Body-GB) สมัยที่ 325 ระหว่างวันที่ 2-12 พฤศจิกายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่ ILO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คณะผู้แทนรัฐบาลไทย ประกอบด้วย นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากคณะผู้แทนถาวรฯ และกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการประชุมระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2558

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2558 นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อ วาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งวาระดังกล่าว ได้รับรองจากที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 เพื่อสร้างโอกาสให้ UN รวมทั้ง ILO ได้สนับสนุนประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs)) อันประกอบด้วย 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรงของ ILO คือเป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม และการจ้างงานเต็มอัตรา และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน สำหรับการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของ SDGs คือ การเป็นหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership) ของรัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ระบบสหประชาชาติ และผู้มีบทบาทอื่นๆ และมีการระดมทรัพยากรทั้งหมด

ขณะนี้ ILO ได้จัดทำความริเริ่มแห่งศตวรรษว่าด้วยการยุติความยากจน (The End to Poverty Centenary Initiative) เพื่อเตรียมเข้าสู่การครบรอบอายุ 100 ปีของ ILO โดยความริเริ่มแห่งศตวรรษว่าด้วยการยุติความยากจน ได้รวมงานส่วนใหญ่ของ ILO ที่มุ่งสู่วาระ ค.ศ. 2030 ขณะที่ความริเริ่มแห่งศตวรรษอื่นๆ เช่น ว่าด้วยสีเขียว และว่าด้วยผู้หญิงทำงาน ได้สนับสนุนต่อวาระ ค.ศ. 2030 ด้วย

ในโอกาสนี้ นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงานได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม GB ว่าการขจัดความยากจนในทุกรูปแบบเป็นสิ่งท้าทายใหญ่ที่สุดในระดับโลกและเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงสนับสนุนให้สำนักงาน ILO ดำเนินงานตามความริเริ่มแห่งศตวรรษเพื่อยุติความยากจนในฐานะกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระ ค.ศ. 2030 และประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมหลายประการ แนวทางสูงสุดสู่การพัฒนาคือการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (The Philosophy of Sufficiency Economy) มีการจัดทำและดำเนินการตามนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยนโยบายหลักๆ มี อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ เพิ่มคุณภาพบริการสาธารณสุข และส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับความพยายามลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลได้สร้างโอกาสด้านอาชีพและความมั่นคงทางรายได้แก่คนงานทุกประเภท ทั้งในและนอกระบบ ผู้หญิง ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และคนชรา คนงานโยกย้ายถิ่นฐานที่ชอบด้วยกฎหมายได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียม มีการส่งเสริมคุณภาพแรงงาน มีการตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกันมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านการจ้างงานระหว่างภาครัฐและเอกชน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทางสังคมและระบบการออมเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ส่งเสริมการมีรายได้ครัวเรือนที่เพียงพอและยั่งยืนและสวัสดิการชุมชนอันจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ คนชรา ผู้หญิง และเด็ก

+++++++++++++++++++

“OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER "

"เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา"

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ