นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระบุต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจโดยการปฏิรูปเศรษฐกิจทั่วประเทศ พร้อมสร้างการรับรู้ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 9, 2015 10:54 —สำนักโฆษก

วันนี้ (9ธ.ค.58) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 3/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามผลการปฏิบัติงานของ กพข. และสั่งการปฏิรูปเศรษฐกิจทั่วประเทศ โดยระยะสั้นสนับสนุนการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมซุปเปอร์คลัสเตอร์ให้มีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ใช้การวิจัยและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมโยงทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาชน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจควบคู่กับการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว ย้ำให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจและการลงทุนมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่าประเทศไทยต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจ ด้วยการผลักดัน SME ให้มีความเข้มแข็ง และต้องพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษ พร้อมสั่งการให้มีการปรับการทำงานของคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้การประชาสัมพันธ์ผลการทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเกิดประโยชน์กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ส่วนการประกาศผลการประเมินมาตรฐานการบินของไทยจากองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซา ในวันที่ 10 ธันวาคมนั้น ยอมรับว่ามีความกังวล ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานาน โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานด้านการบิน แต่ต้องแก้ปัญหาทั้งหมดอย่างเต็มที่

พร้อมกันนี้ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลข่าวสารและสื่อสารประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวถึงผลการประชุม กพข. เพิ่มเติมโดยสรุปว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา กพข. ดำเนินการตามแผนที่วางไว้และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความก้าวหน้าในการทำงานด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์

รัฐบาลมีการกำหนดกลุ่มคลัสเตอร์ที่ชัดเจน และตั้งคณะทำงานที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน คือ “คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์” จึงส่งมอบภารกิจต่างๆ ของคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ไปยังคณะทำงานหลัก เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มความเป็นเอกภาพในการพัฒนาคลัสเตอร์ภาพรวมของประเทศ มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) นำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมทั้ง เสริมศักยภาพด้านการลงทุนให้ประเทศ

ด้านประสิทธิภาพภาครัฐและกระบวนการทางศุลกากร

ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานเพื่อลดปัญหาและอุปสรรค อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้

การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการผ่านระบบ Nation Single Window (NSW) ของประเทศ โดยปัจจุบันมีหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูลเรียบร้อยแล้ว 30 หน่วยงาน อยู่ระหว่างทดสอบ 5 หน่วยงาน และอยู่ระหว่างพัฒนาระบบ 1 หน่วยงาน

การพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐด้านการลงทุนจากต่างประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้พัฒนาศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (One Stop Investment Center) ขยายหน่วยงานให้บริการจาก 21 หน่วยงานเป็น 38 หน่วยงาน

การดำเนินการตาม พรบ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนแจ้งขั้นตอน ระยะเวลาในการให้บริการ โดย กพร. ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ www.info.go.th

ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้มีการมอบหมาย ดังนี้

กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำรายละเอียดโครงสร้างคลัสเตอร์ที่อยู่ในลำดับความสำคัญของประเทศพร้อมรายละเอียดกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) เพื่อนำมาวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคน

กระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบข้อมูลด้านกำลังคนให้เป็นชุดเดียวกัน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะกำลังคน ที่เชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นภาคการผลิตกับความต้องการในตลาดแรงงานและเทคโนโลยีในอนาคต

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เร่งรัดการจัดทำมาตรฐานอาชีพสำหรับอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ

ด้านการพัฒนาเชิงกายภาพ มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนี้

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนผ.) ได้สนับสนุนและดำเนินการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนร่างแผนงาน ซึ่งได้รับการเห็นชอบในหลักการแผนโครงสร้างพื้นฐาน

และด่านศุลกากร ปี 2557 – 2565 รองรับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก จำนวน 6 พื้นที่ (7 ด่าน) ได้แก่ จ.ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา และพื้นที่ชายแดน จ.หนองคาย

          คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) เป็น           ผู้กำหนดและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านโลจีสติกส์ กำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการปรับลดขั้นตอน เอกสารและระยะเวลาในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกของแต่ละสินค้าและเห็นชอบในแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งชายฝั่งและลำน้ำภายในประเทศ เช่น ผลักดันรถไฟรางคู่หรือรถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบ Public Private and Partnership เป็นต้น

คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทับเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเตรียมการเรื่องบรอดแบนด์แห่งชาติ รวมไปถึงการประมูลคลื่น 4G และการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาเชิงกายภาพ ได้มีการเสนอแผนและมีการดำเนินการโดยเชื่อมโยงกับคณะกรรมการระดับชาติในด้านที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมี การเร่งรัดการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งมีการจัดตั้งกลไกหลักในการขับเคลื่อน ในระดับชาติขึ้นแล้ว จึงได้มีการส่งมอบภารกิจต่างๆ ดังกล่าวไปยังกลไกถาวรที่มีจัดตั้งขึ้นต่อไป

ด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ มีการสื่อสารข้อมูลอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้า ดังนี้

ด้านการจัดการข้อมูล มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดระบบข้อมูล ซึ่งได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อร่วมกับหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลสถิติที่ใช้อ้างอิงในการจัดอันดับ เร่งปรับฐานข้อมูลและการให้ความหมายตัวชี้วัดต่างๆให้มีความสอดคล้องกัน มีความถูกต้องและทันสมัย นอกจากนั้นจะมีการวิเคราะห์ที่มาของข้อมูลประเทศไทยที่องค์กรระหว่างประเทศนำไปเผยแพร่และอ้างอิงในการจัดอันดับ

ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ มีการสื่อสารข้อมูลกับสาธารณชนให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาขีดความสารถในการแข่งขันของประเทศผ่านเว็บไซต์ของ สศช. และ Facebook Fan Page ‘Thailand Competitiveness’ และจะมีการทำแผนระยะยาว เพื่อกำหนดแนวทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน ตรงกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ผ่านสื่อหลากหลายช่องทางและสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

ด้านการสนับสนุนคณะอนุกรรมการในด้านอื่นๆ มีการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดตั้งเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยระบุถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมการทำงานของคณะอนุกรรมการให้ได้รับมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิครบถ้วนมากขึ้น จึงแต่งตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 3 ท่าน ประกอบด้วย อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและผู้อำนวยการสำนักบัญชีประชาชาติ สศช.

----------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ