รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยและจีนได้มีการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) หลายเรื่องในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาด้านอาชีวศึกษา รวมทั้งการจัดอบรมด้านระบบการขนส่งทางราง ซึ่งจีนให้การอบรมระยะสั้นแก่บุคลากรของไทย
แต่ขณะนี้รัฐบาลต้องการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนด้านระบบการขนส่งทางรางกว่า 10,000 คน รวมทั้งเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางราง จึงขอความร่วมมือกับจีนในการจัดตั้ง "สถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีน" เพราะนับตั้งแต่มีการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ไทยก็ยังไม่ได้มีความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษากับประเทศอื่น โดยไทยเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษาในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง อีกทั้งจีนมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในด้านนี้ ดังนั้น หากจัดตั้งสถาบันดังกล่าวยิ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษาของไทย ด้วยสถานที่ตั้งของประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านระบบการขนส่งทางรางในกลุ่มประเทศอาเซียนได้
ส่วนความร่วมมือที่ผ่านมาของกระทรวงคมนาคมที่ได้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับจีน คือ การพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัยและพนักงานการรถไฟนั้น ก็ถือเป็นการเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมต่อการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงศึกษาธิการพร้อมจะสนับสนุนผลิตนักเรียนนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการด้านกำลังคนของกระทรวงคมนาคมต่อไปเช่นกัน
Mr.Ning Fukui เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ผู้ที่จบการศึกษาจากอาชีวศึกษาในจีนสามารถหางานได้ง่ายกว่าผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีรายได้สูงกว่าด้วย โดยในแต่ละปีมีผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาประมาณ 10 ล้านคน ในขณะที่มีผู้จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยประมาณ 7-8 ล้านคน เนื่องจากจีนมีสถาบันอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและมีอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย
ส่วนประเด็นการส่งเสริมผลิตและพัฒนากำลังคนด้านระบบการขนส่งทางรางนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการให้การอบรมด้านรถไฟความเร็วสูงให้กับบุคลากรไทยมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน แต่หลังจากการหารือครั้งนี้ก็พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษากับไทยให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือเพิ่มเติมกับกระทรวงศึกษาธิการในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านระบบการขนส่งทางราง
สำหรับความร่วมมือในการจัดตั้งอาชีวศึกษาไทย-จีนนั้น เห็นว่ามีความเป็นไปได้ โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการประสานผ่านสถานเอกอัครราชทูตจีน เพื่อเสนอให้รัฐบาลจีนพิจารณาต่อไป และหากบรรลุข้อตกลงเรื่องนี้ ไทยจะเป็นประเทศแรกที่จีนให้ความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษา
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมถึงการหารือกับเอกอัครราชทูตจีนในครั้งนี้ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1) การเตรียมกำลังคนเพื่อรองรับระบบการขนส่งราง 2) การจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีน
ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเป็นหลักในการจัดอบรมบุคลากร โดยได้รับความร่วมมือจากจีน แต่ก็เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ผูกพันกับรัฐบาลจีนในการเข้ามาทำระบบการขนส่งทางรางในไทย เพราะความร่วมมือดังกล่าวเป็นเพียงความช่วยเหลือในฐานะมิตรประเทศ ซึ่งไทยและจีนได้มีความร่วมมือด้านการอบรมบุคลากรด้านระบบการขนส่งทางรางมาแล้วเป็นระยะกว่าเวลา 2 ปี ดังจะเห็นได้จากในเดือนสิงหาคม 2557 จีนได้จัดอบรมบุคลากรไทยไปแล้วประมาณ 180 คน และมีแผนอบรมต่อเนื่องอีกกว่า 900 คน
ส่วนข้อเสนอของ รมว.ศึกษาธิการ ให้มีการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีน เพื่อผลิตกำลังคนให้รองรับสาขาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุกสาขา ไม่ใช่เฉพาะระบบขนส่งทางรางเท่านั้น ก็น่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีและหลักสูตรของจีนมาบูรณาการร่วมกับหลักสูตรของไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันดังกล่าวมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งไทยและจีน คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะสรุปโครงการเบื้องต้น (Proposal) เพื่อเสนอให้ รมว. ศึกษาธิการและเอกอัครราชทูตจีน พิจารณาได้ภายในเดือนธันวาคม 2558
ภาพ : อรพรรณ ฤทธิ์มั่น และกลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th