ตรวจเยี่ยม รร.อนุบาลโคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

ข่าวทั่วไป Wednesday November 11, 2015 14:40 —สำนักโฆษก

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนอนุบาลโคกศรีสุพรรณ อำเภอโคกศรีสุพรรณ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 เมื่อวันอังคารที่ 10พฤศจิกายน 2558 โดยมีนายเทวรัฐ โตไทยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร (สพป.สกลนคร) เขต 1 พร้อมด้วยนางสาวสำรวย พิมพ์มีลาย ผู้อำนวยการโรงเรียน รวมทั้งคณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการจัดการศึกษาตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ

นายเทวรัฐ โตไทยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 ได้รายงานให้ รมช.ศึกษาธิการ รับทราบผลการดำเนินงานในภาพรวมของ สพป.สกลนคร เขต 1 ว่า ได้เน้นดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ

1) การแก้ปัญหาให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ ซึ่งได้จัดทำรูปแบบ (Model) สำหรับแต่ละโรงเรียนเลือกดำเนินการตามความเหมาะสมจำนวน 8 รูปแบบ ซึ่งในเทอมแรกของปีการศึกษาที่ผ่านมามีนักเรียนมากกว่าร้อยละ 80 ที่ปลอดการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

2) การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเน้นการนำ DLTV และ DLIT ไปใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 56 โรง นอกจากนี้จังหวัดสกลนครเป็นศูนย์ฝึกอบรม DLIT จึงได้ขยายผลให้ครูทุกคนในเขตพื้นที่ฯ ได้รับการอบรมครบทุกคน

3) การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งได้มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารทุกโรงเรียนมาโดยตลอด พร้อมทั้งให้ศึกษานิเทศก์ไปเข้ารับการอบรมเพื่อเป็น Smart Trainer นำมาขยายผลแก่ 17 โรงเรียนนำร่อง รวมทั้งโรงเรียนคู่ขนานอีก 2 โรงที่ร่วมจัดกิจกรรมตามโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของเขตพื้นที่ฯ ทั้งนี้เมื่อได้ดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว จะมี After Action Review : AAR เพื่อสะท้อนข้อเสนอต่างๆ ไปยังกระทรวงศึกษาธิการรับทราบต่อไป โดยผลการประเมินการจัดกิจกรรมในรอบ 1 สัปดาห์ที่ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันเริ่มต้นนโยบาย 2 พฤศจิกายน 2558 ก็พบว่าผู้ปกครองและนักเรียนดีใจกับแนวทางนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง

นางสาวสำรวย พิมพ์มีลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลโคกศรีสุพรรณ ได้รายงานข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน ซึ่งใช้หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนเป็น 1 ใน 17 โรงเรียนนำร่องโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จึงได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดไว้ให้เพื่อสร้างเสริมทักษะของนักเรียนทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา (Head) ด้านทัศนคติ (Heart) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hand) ด้านสุขภาพ (Health) ใน 3 รูปแบบ คือ

1) กิจกรรมเกมและกิจกรรมตามกลุ่มสาระ ซึ่งเป็นการซ่อมเสริม 8 กลุ่มสาระ

2) กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ ช่วงชั้นละ 6 อาชีพ เช่น ด้าน IT, ประดิษฐ์ของเล่นของใช้, อาหาร, เสริมสวย ฯลฯ

3) กิจกรรมเสรี 10 กิจกรรม เช่น ดนตรี, นักสืบน้อย, พิธีกร, การละเล่นพื้นบ้าน, คณิตหรรษา, ท่องโลกออนไลน์, กีฬา ฯลฯ โดยให้เด็กเลือกเข้ากิจกรรมตามความสนใจ และภายหลัง 1 เดือนสามารถเปลี่ยนไปเข้าร่วมกิจกรรมอื่นได้ตามความถนัดของแต่ละบุคคล ซึ่งกิจกรรมยอดนิยมที่นักเรียนได้ให้ความสนใจมากที่สุด คือ กีฬา มากถึงร้อยละ 60

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เพราะไม่ต้องการรบกวนพิธีการต้อนรับต่างๆ ของโรงเรียน เพียงแต่ต้องการมาให้กำลังใจและมารับฟังฝ่ายปฏิบัติ ที่ได้ดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น

"โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดมากของนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องรอ "วงรอบ" การปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งโดยปกติจะดำเนินการทุก 10 ปี แต่โครงการดังกล่าวเป็นการตัดเวลาเรียน เอาส่วนที่รุ่งริ่งออกไป หรือการให้นักเรียนนั่งเรียนหรือท่องจำในห้องเรียนน้อยลง เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้จริงๆ นอกห้องเรียน เพราะที่ผ่านมาเด็กไทยเรียนรู้ในห้องเรียนมากที่สุดในโลกถึง 1,400 ชั่วโมงต่อปี ทั้งที่ใช้เวลาเรียนครบตามหลักสูตรได้ใน 850 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น

"การประกวด-ประเมิน-ประกัน ทำให้ครูประสาทกิน" เป็นคำกล่าวที่ รมช.ศึกษาธิการ ย้ำในการหารือครั้งนี้ว่า ได้ต่อสู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภายนอกและภายในสถานศึกษา การประกันคุณภาพ เพื่อให้โรงเรียนเลิกเป็นทาสกระดาษ ซึ่งจะต้องไปปรับรูปแบบและตัวชี้วัดให้เหลือน้อยที่สุด เช่น ที่ผ่านมาประเมินด้านสุนทรียภาพของเด็ก แทนที่จะประเมินว่าเด็กที่จบออกไปเรียนต่อสาขาอะไรหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2559 ข้อสอบ O-NET ภาษาไทย จะเริ่มใช้ข้อสอบอัตนัยร้อยละ 20 ดังนั้น ทั้งครูผู้สอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการทดสอบของประเทศ คือ ทปอ. และ สทศ. จึงควรปรับรูปแบบการเรียนการสอนและนโยบายในการจัดสอบให้ขยับล้อตามกันไปด้วย (Alignment) เพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกัน

"การยกระดับภาษาอังกฤษของผู้เรียน และสะเต็ม" รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทั้งสองนโยบายนี้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โดย :

  • นโยบายการยกระดับภาษาอังกฤษ จะเน้นเริ่มต้นให้เด็กสนใจที่จะเรียนจากแรงบันดาลใจและความจำเป็นที่จะต้องเรียน โดยการให้ดาราที่มีชื่อเสียงของไทย เช่น จาพนม ซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ใช้เวลาเรียนเพียง 1-2 ปีก็สามารถสัมภาษณ์ฮอลลีวู้ดได้อย่างคล่องแคล่ว โดยนโยบายนี้จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์มาใช้ร่วมกับการจ้างครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากต่างประเทศเข้ามาสอน โดยจะเริ่มต้นวางรากฐานในนโยบายนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป
  • สะเต็ม หรือ STEM ซึ่งเป็นคำย่อมาจากศาสตร์ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) อันหมายถึงองค์ความรู้วิชาการของศาสตร์ทั้งสี่ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน เพราะเมื่อเราตื่นขึ้นมาก็เห็น STEM เต็มไปหมด เพราะเป็นสิ่งที่อยู่รายล้อมรอบตัวเรา วิธีการที่สำคัญสำหรับครูในการส่งเสริมเด็กจึงควรเป็นการ "ตั้งคำถาม" ให้เด็กคิดและหาคำตอบเอง เช่น พัดลม แอร์ทำงานได้อย่างไร, เราสามารถสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาได้อย่างไร, สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกให้เด็กคิดได้ทุกวัน โดยไม่ได้ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณอะไรเลย

"โรงเรียนคุณธรรม" เป็นรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมที่นำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินการเพื่อสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน ซึ่งรูปแบบของโรงเรียนคุณธรรม มีความเป็นสากล สามารถนำไปปรับใช้ได้กับสถานศึกษาทุกภาค ทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในสร้างคุณธรรมของผู้บริหาร ครู และนักเรียน และความร่วมมือกับชุมชน ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของโครงการนี้ ที่สำคัญคือรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมจะมีระบบประกันหรือกระบวนการได้ว่าเป็นโรงเรียนที่ผลิตนักเรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมจริง แต่โรงเรียนอื่นๆ อาจใช้รูปแบบอื่นก็ได้ เช่น วิถีพุทธ เพียงแต่ขอให้ระบบรับประกันผู้เรียนในสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า โลกปัจจุบันทำให้เด็กใช้อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น แต่การที่เด็กๆ อ่านหนังสือจาก Smartphone นั้น ความจำจะต่ำกว่าอ่านจากหนังสือหรืออ่านในห้องสมุด แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยีก็มีหลายสิ่งที่หนังสือทำไม่ได้ ครูผู้สอนจึงควรแนะนำให้เด็กเรียนรู้อย่างเหมาะสม ยิ่งปัจจุบันหลายอาชีพ เช่น ครู หมอ คนขับรถ เวลาทำงานต้องเหลือบไปอ่านไลน์ กลายเป็นโรค LD (Line Disorder) กันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ ด้วย

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้พบปะกับผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.1 รายหนึ่งซึ่งมาส่งลูกเข้าเรียน ซึ่งผู้ปกครองก็ได้ชี้แจงประเด็นโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ว่า ตอนแรกรู้สึกเป็นห่วง เพราะโดยปกติลูกตนเองก็เรียนไม่ค่อยทันเพื่อนอยู่แล้ว กลัวว่าลดเวลาเรียนจะยิ่งทำให้โง่ไปใหญ่ แต่เมื่อได้เห็นแนวทางการจัดกิจกรรมและได้พูดคุยกับลูกที่บ้านในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงรู้ว่ากิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนได้จัดเตรียมไว้ ทำให้ลูกได้รู้อะไรๆ กว้างมากขึ้นกว่าเดิม จึงยืนยันว่าเป็นโครงการที่ดีสำหรับผู้ปกครองและเด็กๆ ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากกว่าเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว

ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ